นายกฯเศรษฐา นัดหน่วยงาน-สายการบิน ถกหารือ ก่อนเผยเล็งโรดโชว์โปรโมททั่วโลก ‘บิ๊กบางกอกแอร์’ เผยนายกฯใหม่อยากให้เพิ่มเที่ยวบินเข้าภูเก็ต กำชับ ‘กพท.’ ทำแผนรับมือนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น พร้อมสั่งการ ทอท. เร่งแผนพัฒนาสนามบิน ‘สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต-เชียงใหม่’ จี้โอน 3 สนามบิน ‘กระบี่-อุดร-บุรีรัมย์’ ให้จบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟัง และหารือข้อเสนอแนะกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวมทั้งผู้ประกอบการสายการบินของไทย รวม 8 สายการบิน เกี่ยวกับสถานการณ์การขนส่งคมนาคมทางอากาศที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น ที่กำลังจะมาถึง
สำหรับปัญหาที่ผู้ประกอบการสะท้อนมายังนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย เช่น
1.การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้ทันกับฤดูกาลท่องเที่ยว อย่างน้อย 20%
2.การเพิ่มศักยภาพเครื่องบินให้ทันกับการปรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น
3.การเพิ่มโอกาสผลักดันนักท่องเที่ยวในตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย ให้มากขึ้น
4.การเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้มีความเหมาะสมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
@โปรโมทเที่ยวไทยทั่วโลก
โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า ขอขอบคุณ ทอท. ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยกันส่งเสริมการทำงานกับรัฐบาลเพื่อไทยในการเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้เข้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น (Quick win) ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการภายในสนามบิน การเพิ่มเที่ยวบิน การเพิ่มหรือขยายรันเวย์ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอของสายการบินต่างๆ ถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีในการร่วมกันส่งเสริมและสร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นเรื่องดีที่ทุกสายการบินให้การตอบรับนโยบาย Free visa ในบางประเทศที่มีศักยภาพ เช่น จีน ซึ่งคาดว่าทุกสายการบิน มีความต้องการขยายจำนวนเที่ยวบินรับนักท่องเที่ยวตอบรับนโยบายแน่นอน ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีแผนที่จะไปโปรโมทการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศในปีหน้าในเที่ยวบินที่มีความพร้อม ซึ่งแต่ละสายการบินมีสัญญาณที่ดีว่าหากรัฐบาลสามารถเพิ่มความต้องการนักท่องเที่ยวไทยได้ สายการบินจะมีการแข่งขันกันโปรโมทการท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงตั๋วโดยสารได้ในราคาที่เหมาะสม
@’เสี่ยนิด’หารือเพิ่มเที่ยวบินเข้า ‘ภูเก็ต’ ‘ลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน-อู่ตะเภา’ ยังไม่ได้คุย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สอบถามเพิ่มเติมกับนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สถึงประเด็นที่หารือกับนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย โดยนายพุฒิพงศ์เปิดเผยว่า เท่าที่หารือกัน นายเศรษฐากล่าวถึงการเพิ่มเส้นทางการบินใน จ.ภูเก็ต ส่วนเรื่องการทบทวนเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังกรมสรรพสามิตแจงไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน ในช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวเพียงสั้นๆว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปหารือกันต่อไปในอนาคต ซึ่งสมาคมสายการบินประเทศไทย ได้ขอไปยังภาครัฐทบทวนการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) สำหรับเส้นทางในประเทศ ลดต้นทุน ผลกระทบค่าโดยสาร หลังธุรกิจการบินและท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ซึ่งตั้งแต่1 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต กลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) สำหรับเครื่องบินไอพ่น ในอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร
ส่วนการหารือเกี่ยวกับการที่บางกอกแอร์เวย์สและพันธมิตรในนามบจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 290,000 ล้านบาท ได้นำหารือกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยหรือไม่นั้น นายพุฒิพงศ์ตอบว่า ยังไม่ได้หารือกันในประเด็นนี้
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ
ที่มาภาพ: บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
@กำชับ กพท. รับมือนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น
ด้านนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ประเด็นที่มีการหารือในส่วนของ กพท. คือการหาทางรับมือนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น (พ.ย.-เม.ย.ของทุกปี) และเตรียมการสลอตเที่ยวบินให้เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมีปริมาณมากขึ้นหลังพ้นจากช่วงแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงการปรับค่าความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของแต่ละสนามบิน ส่วนนโยบายการการยกเลิกฟรีวีซา ทั้ง จีน อินเดียรัสเซีย โดยจะขยายเวลาจาก 30 วันเป็น 90 วัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้แจ้งให้ทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้หารือกันในรายละเอียด
สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
ที่มาภาพ: สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
@เดินหน้าขยาย ‘ภูเก็ต-เชียงใหม่’
ขณะที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของ ทอท. นายกรัฐมนตรีให้วิสัยทัศน์ว่า การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานี้ เพราะเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวอื่นยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จึงจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้
ส่วนนโยบายที่จะพัฒนาสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 นั้น นายกีรติระบุว่า ทั้ง 2 สนามบินมีแผนงานที่จะทำอยู่แล้ว เพียงแต่ในมุมของนายเศรษฐามองว่า ทั้ง 2 จังหวัดเป็นตัวจักรสำคัญในการดึงดูดการท่องเที่ยวจากทั่วโลก ดังนั้น จึงควรเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นก่อน เพราะปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่ มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เพียง 10 ล้านคน/ปี ส่วนสนามบินภูเก็ตรองรับได้ 20 ล้านคน/ปี
อย่างไรก็ตาม สนามบินทั้ง 2 แห่งมีแผนพัฒนาสนามบินเดิม ซึ่งจะต้องดำเนินการในจุดนี้ก่อน ส่วนการก่อสร้างสนามบินใหม่ ยังต้องออกแบบและทบทวนแผนเดิมก่อน แม้จะผ่านการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคมมา 3 ปีแล้วก็ตาม
@ดันส่วนต่อขยายสุวรรณภูมิ East Expansion - เร่งโอน 3 สนามบิน ทย.
ขณะที่การพัฒนาสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ นายกีรติกล่าวว่า ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.มีแผนงานที่จะผลักดันการก่อสร้างมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท จะเพิ่มพื้นที่อีก 60,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี คาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบแล้วเสร็จเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 2567 สร้างเสร็จ 2570
จากนั้นจะผลักดันส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี และอาคารผู้โดยสารฝั่งทิศเหนือ (North Expansion) มูลค่าลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการต่อเนื่องเมื่อ East Expansion ก่อสร้างเสร็จ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จากนโยบายของรัฐบาลเดิมที่ให้ทอท. เข้าไปบริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะดำเนินการต่อหรือไม่ นายกีรติกล่าวว่า นายเศรษฐาให้เร่งรัดการมอบสิทธิ์ในการบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งให้เสร็จโดยเร็ว แต่มีคำแนะนำว่า ทอท. ไม่ควรรับแต่สนามบินที่กำไรให้บริษัท ควรเอาสนามบินอื่นๆที่ไม่ทำกำไรไปดูแลด้วย เพื่อยกระดับสนามบินบางแห่งของ ทย. ให้มีบริการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ นายเศรษฐายังไม่ได้บอกว่า ให้เอาสนามบินใดของ ทย.ไปดูแลเพิ่มเติมแต่อย่างใด
กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)
สำหรับหน่วยงานและสายการบินที่มาร่วมหารือในวันนี้ ได้แก่
1. ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน)
2. นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อํานวยการสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
3. นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)
4. นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท
5. นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย
6. นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์
7. นายชัยยง รัตนาไพศาลสุข รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จํากัด
8.นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
9.นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลออนแอร์
10. นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สายการบินนกแอร์ จํากัด (มหาชน)