‘ประวิตร’ นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 3 เดือน พื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ปรับลดใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 สิงหาคม 2566 พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 3/2566 โดยที่ประชุม ได้รับทราบผลการปฎิบัติงานตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ห้วง 20 มิ.ย.66 ถึง 20 ส.ค.66 ซึ่งมีแนวโน้มของสถานการณ์ ที่มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้นตามลำดับ และมีสถิติการก่อเหตุความรุนแรงลดลง สามารถพัฒนาไปสู่การปรับลดพื้นที่ออกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้มากขึ้นทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ให้เข้มงวดตรวจสอบโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารประกอบระเบิด พร้อมเร่งรัดการช่วยเหลือ ฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรงงานพลุดอกไม้เพลิงระเบิด ที่ผ่านมาโดยเร็วด้วย
จากนั้น ที่ประชุม กบฉ.ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรับลดพื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 มาใช้แทน และขอขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ จชต. ยกเว้น อ.ศรีสาคร ,อ.สุไหงโก-ลก ,อ.แว้งและ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหริ่ง ,อ.มายอ ,อ.ไม้แก่น และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง และ อ.กาบัง จ.ยะลา ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ตั้งแต่ 20 ก.ย.66 ถึง 19 ธ.ค.66 โดยเป็นการขยายระยะเวลา ครั้งที่ 73 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน ป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยให้ สมช.เสนอเรื่องไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ต่อไป
ในช่วงท้าย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ คณะกรรมการฯ หน่วยงานความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และกำลังพลทุกนายที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท และกล้าหาญ อย่างน่าภาคภูมิใจ สามารถแก้ปัญหา จชต.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่ผ่านมา และมีสถิติการก่อเหตุฯลดลง ตามลำดับ พร้อมทั้งได้ขอบคุณประชาชนในพื้นที่ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งได้กำชับ สมช.ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหา จชต.ในระดับนโยบาย ที่ต้องขับเคลื่อนให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน มีความเป็นมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเตรียมรับนโยบายจาก ครม.ชุดใหม่ ที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย ต่อไป