คปท.ยื่นหนังสือ ปลัด ยธ.จี้สอบอธิบดีราชัณฑ์ อำนวยความสะดวก-ให้อภิสิทธิ์ 'ทักษิณ' เหนือนักโทษคนอื่นสร้างความเหลื่อมล้ำ-ตั้งคำถามป่วยจริงหรือ หลังก่อนหน้ามีภาพอดีตนายกฯ ออกกำลังแข็งแรงดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ส.ค. เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมมวลชนจำนวนมาก ยื่นหนังสือถึง นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากมีข้อสงสัยหลายประการ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ นายทักษิณ ไม่ต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบการควบคุมตัวเหมือนกับนักโทษรายอื่นๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน จนเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ณ กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ
ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์แถลงถึงการรับตัวนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่เรือนจำ โดยดำเนินการตามมาตรการผู้ต้องขังเข้าใหม่ ทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพโดยแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ เบื้องต้นเป็น “กลุ่มเปราะบาง” มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯจึงได้แยกคุมขังเดี่ยวนักโทษชายทักษิณ ที่แดน ๗ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ๒๔ ชั่วโมง หากเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันที เพื่อป้องกันการสูญเสีย
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์เผยแพร่คำชี้แจงของนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯว่า กรมราชทัณฑ์ส่งตัวนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจเมื่อเวลา 00.20 น.ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 หลังจากแพทย์เวรในเรือนจำพบว่า นักโทษชายทักษิณ มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความเห็นว่า เนื่องจากทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวนักโทษชายทักษิณ ไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อมมีเครื่องมือที่ศักยภาพสูงกว่า ตามแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิต ตามถ้อยแถลงของกรมราชทัณฑ์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเคลือบแคลงของสังคมโดยทั่วไปว่า สุขภาพของนักโทษชายทักษิณ ที่ปรากฎและเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ของตัวนักโทษเอง และสื่อสังคมออนไลน์ของบุตรสาว กลับพบว่า มีการสื่อสารอยู่หลายครั้งว่า สุขภาพของนักโทษทักษิณ อยู่ในเกณฑ์แข็งแรงดี แม้จะมีรอยโรคหรืออาการของโรคบางชนิดก็ตาม ทั้งยังมีการสื่อสารว่ามีการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพจนสุขภาพหรือร่างกายของนักโทษชายทักษิณแข็งแรงดี เช่น มีภาพของนักโทษชายทักษิณ ออกกำลังการด้วยการว่ายน้ำ ออกกำลังการยด้วยการเตะเป้า ออกกำลังกายด้วยการยกดัมเบลล์ ทั้งถูกเผยแพร่ในสื่อสาธารณะโดยทั่วไปอีกด้วย
นอกจากนี้มี ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยของนักโทษชายทักษิณซึ่งมีการเลื่อนการเดินทางอยู่หลายครั้ง และในทุกครั้งของการเลื่อนการเดินทางนั้น ได้ให้เหตุผลในการเลื่อนการเดินทางที่ไม่อาจรับฟังได้ว่ามีเหตุเพียงพอต่อการเลื่อนการเดินทาง จึงถูกวิเคราะห์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า นักโทษชายทักษิณจะใช้เรื่องสุขภาพและอาการของโรคเพื่อเป็นข้ออ้างในการขอโอนตัวไปรักษาตัวในห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจ และสุดท้ายจะมีการโอนย้ายต่อไปโรงพยาบาลเอกชนที่มีความสะดวกสบายดังเช่นอยู่บ้านของตัวเอง และบุคคลต่างๆ สามารถเดินทางมาพบได้โดยสะดวก
ซึ่งก็ปรากฏว่า เกิดเหตุการเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทั้งที่ยังถูกควบคุมตัวไม่ครบ 24 ชั่วโมงของการคุมขังภายใต้ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์
เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. เห็นว่าในกรณีดังกล่าว
1.อาการป่วยของนักโทษชายทักษิณ อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือมีอาการรุนแรงตามถ้อยแถลงของกรมราชทัณฑ์
2.การจัดการให้นักโทษชายทักษิณ อยู่ห้องขังเดี่ยวนั้นจะมีเพียงห้วง 10 วันแรกที่ต้องกักโรค หรือจะมีอภิสิทธิ์ อยู่ห้องขังเดี่ยว หรือในโรงพยาบาลตลอดไป โดยอ้างถึงอาการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพ
3.นักโทษสูงวัยรายอื่นๆ กรมราชทัณฑ์จะจัดการดูแลอย่างเท่าเทียมกันทุกรายหรือไม่ หรือจะให้อภิสิทธิ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นเฉพาะรายจนเกิดคำกล่าวขานว่า “คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน”
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. จึงขอให้กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. กรณีที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจหรือ โรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานและจริยธรรมทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ควรเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์มาตรวจร่างกายนักโทษชายทักษิณ โดยละเอียดอีกครั้งว่า มีความจำเป็นต้องรับการรักษาโดยโรงพยาบาลภายนอกหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาโดยสังคมทั่วไป และป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ จนเกิดเป็นคดีอาญาในการช่วยเหลือผู้ต้องขังให้ได้รับความสะดวกสบายผิดจากข้อเท็จจริงทางการแพทย์
2. กรมราชทัณฑ์ ต้องดำเนินการให้นักโทษชายทักษิณ ซึ่งยังอยู่ในฐานะผู้ต้องขัง ให้มีมาตรฐานเดียวกับผู้ต้องขังอื่นปฏิบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ระบุว่า นักโทษชายทุกคนต้องไว้ผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 ซม. รวมทั้งเรื่องการแต่งกาย ในกรณีที่มีข้อยกเว้นว่าเป็นผู้สูงวัยอายุมากแล้ว ควรระบุให้ข้อยกเว้นนั้นๆ เป็นสิทธิโดยทั่วไปที่เข้าถึงได้โดยมิต้องร้องขออย่างเท่าเทียมกันของนักโทษผู้สูงวัยอื่นๆ ด้วย
3. กระทรวงยุติธรรม ต้องดำเนินการให้การคุมขังนักโทษชายทักษิณ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ทั้งการเลื่อนชั้นนักโทษ การดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่ควรให้เกิด “อภิสิทธิ์” หรือ “ข้อยกเว้น” ใดๆ จนเกิดเป็น “สองมาตรฐาน” ขึ้นในกระบวนการยุติธรรม หรือสยบยอมให้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ จนเกิดการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
4. ผู้ต้องขังทุกคนมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ และการพระราชทานอภัยโทษอันเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 179 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 แต่การขอพระราชทานอภัยโทษในคดีทุจริตนั้นไม่เคยมีมาก่อน จึงอาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ ส่งผลให้นักการเมือง ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากที่ต้องโทษจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้เป็นช่องทางให้พ้นโทษจากเรือนจำ กระทรวงยุติธรรมจึงควรระมัดระวังและพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ
เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวงยุติธรรมจะบังคับใช้กฎหมายราชทัณฑ์กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อย่างโปร่งใส เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับที่บังคับใช้กับประชาชนทั่วไปโดยปกติวิสัย เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมไม่เกิดภาวะ “สองมาตรฐาน” จนทำให้ประชาชนเกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ