รฟท.เผยสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ต้องรอผลเจรจากับกรมศิลปกร เชื่อมีหลายทางเลือก-ทำได้ไม่กระทบมรดกโลก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงความคืบหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงบริเวณสถานีอยุธยาที่มีปัญหาส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตอบกลับร่างสัญญาก่อนลงนามสัญญา ถ้าหากไม่สามารถตกลงร่วมกับกรมศิลปกรได้ รฟท.จะไม่ก่อสร้างสถานีอยุธยา แต่จะก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน และจะไม่ย้ายตำแหน่งสถานีไปบริเวณ ต.บ้านม้าหรือบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาค่อนข้างแคบ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง เชื่อว่ายังมีหลายทางเลือกที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อมรดกโลก อย่างไรก็ตามเรื่องการก่อสร้างรถไฟต้องให้กรมศิลปกรไปดำเนินการพุดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนรฟท.รับผิดชอบในด้านการก่อสร้าง
นอกจากนี้ นายนิรุฒยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคายว่า งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา มีความล่าช้าเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยในปัจจุบันการก่อสร้างงานในโครงการนี้มีจำนวน 14 สัญญา สร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีจำนวน 10 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างอีก 1 สัญญา และยังไม่ลงนามอีก 2 สัญญา โดยโครงการที่ยังรอการลงนามนั้น ประกอบด้วย
1. สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นพื้นที่โครงสร้างร่วมกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ในปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายจึงยังไม่มีความชัดเจน แต่คาดว่าจะได้ความชัดเจนในช่วงเดือนต.ค. 2566
2. สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง ระยะทาง 13.3 กม.