กรมทางหลวง เคาะ 22 พ.ย. 66 ยื่นซองประมูล Rest Area ศรีราชา - บางละมุง วงเงินรวม 1.8 พันล้านบาท กางไทม์ไลน์ลงนามสัญญากลางปี 67 เสร็จปี 69 ก่อนเผยบิ๊กเนมเอกชนร่วมสังเกตการณ์คับคั่งอาทิ ‘ซีพี-เซ็นทรัล-คิงเพาเวอร์-ปตท.’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 สิงหาคม 2566 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมมีกำหนดจะดำเนินการในแผนงานพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – ชลบุรี - พัทยา - มาบตาพุด วงเงินรวม 1,801 ล้านบาท แบ่งเป็นศรีราชา 1,107 ล้านบาท และบางละมุง 784 ล้านบาท
โดยจะเปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 23 ส.ค. - 22 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ ข้อกำหนดคุณสมบัติต่างๆ และขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ได้จากประกาศเชิญชวนฯ (ฉบับทางการ) ที่เว็บไซต์ www.doh.go.th หรือ www.doh-motorway.com และวางกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 22 พ.ย. 2566 และคาดว่าจะได้ตัวเอกชนในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป
นายสราวุธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียดโครงการทั้ง 2 แห่ง จะแบ่งเป็น 2 สัญญาคือ ที่ศรีราชา 1 สัญญา และบางละมุง 1 สัญญา รูปแบบการลงทุนอยู่ในแบบ PPP Net Cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยในขณะที่ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด) มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี (ออกแบบและก่อสร้าง 2 ปี / การดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี)
@ผ่าคุณสมบัติผู้เข้าประมูลเบื้องต้น
ส่วนคุณสมบัติของผู้จะเข้าร่วมประมูล ให้ทั้งนิติบุคคลและกลุ่มนิติบุคคล โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยและจดทะเบียนมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ ในส่วนของคุณสมบัติด้านการเงิน จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทสำหรับโครงการศรีราชา และ 80 ล้านบาทสำหรับโครงการที่บางละมุง และจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงการรับรองและสนับสนุนการให้สินเชื่อ (Line of Credit) ที่ออกโดยธนาคารพณิชย์ของไทยหรือธนาคารในต่างประเทศที่มีสาขาในไทย โดยโครงการที่ศรีราชาต้องได้รับรองและสนับสนุนการให้สินเชื่อไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท ส่วนบางละมุงอยู่ที่ 570 ล้านบาท
นายสราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงาน เปิดกว้างรับประสบการณ์ทั้งที่พักริมทาง, ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้มอลล์, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, มิกซ์ยูส เป็นต้น
สำหรับการพิจารณาซองข้อเสนอแบ่งเป็น 4 ซองข้อเสนอคือ คุณสมบัติ, เทคนิค, การเงินและค่าตอบแทน และอื่นๆ ซึ่งการตัดสินใจจะอยู่ที่ซองข้อเสนอที่ 3 คือ จะพิจารณาโดยจัดลำดับผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอค่าตอบแทนให้แก่ ทล. มากที่สุดจะได้รับกำรจัดลำดับดีที่สุด และเรียงผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอว่า ตอบแทนให้แก่ ทล. มากที่สุดลำดับต่อไป โดยเอกสารข้อเสนอจะต้องมีความสมบูรณ์ ถูกต้องและครบถ้วน มิเช่นนั้นแล้วจะถือว่า ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นจะไม่ได้รับการประเมิน
@ซีพี-คิงเพาเวอร์-ปตท.-เซ็นทรัล ตบเท้าเข้าฟัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมอเตอร์เวย์ช่วงกรุงเทพ - พัทยา - มาบตาพุต (M7) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Rest Area ทั้งสองแห่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ยที่ 250,000 คัน/วัน
สำหรับเอกชนที่มาร่วมประชุมและรับฟังการแถลงข่าว มีจำนวน 22 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท คิง พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อินเตอร์แฟค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท แอล เอช มอลล์แอนด์โฮเทล จำกัด, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน), BTS Group Holding Public Comapany Limited, บริษัท กัลฟ์ เอ้นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), Sojitz Corporation, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด, BTS Infrastructure Development, บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด, บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด, บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น
อ่านประกอบ