‘ไอติม’ นำทีมก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายอีก 9 ฉบับ หลังก่อนหน้านี้ยื่นไปแล้ว 7 ฉบับ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน ‘การกระจายอำนาจลงท้องถิ่น-การปราบปรามและป้องกันการคอร์รัปชั่น-สิทธิเสรีภาพ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกลนำโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อในฐานะผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบายพรรค เป็นผู้แถลงถึงการยื่นชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ อีก 3 ชุด ประกอบด้วย ปลดล็อกท้องถิ่น ป้องกันการทุจริต โอบรับความหลากหลาย รวม 9 ร่าง โดยมีผู้แทนของประธานสภาผู้แทนราษฎรมารับหนังสือแทน
@กม.เลิกเกณฑ์ทหาร-ยุบกอ.รมน.เข้าข่ายการเงิน
ช่วงหนึ่ง นายพริษฐ์เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ยื่นเสนอกฎหมายจำนวน 2 ชุด รวม 7 ฉบับ ได้แก่ ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ 5 ฉบับ และชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด 2 ฉบับ อันประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100% รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของพลทหาร
2. ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจของสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
3. ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐ
4. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
5. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.
6. พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต หรือ ‘สุราก้าวหน้า’
และ 7. ร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผ่านการปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
เบื้องต้น หลังจากที่ได้เสนอไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับแจ้งว่า มีการวิเคราะห์ว่า จะมีร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เข้าข่ายกฎหมายการเงินคือ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร และร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก กอ.รมน. ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นไปตามตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 วรรคสอง ที่ระบุว่า ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่มาจาก ส.ส. หรือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน หรือ พ.ร.บ.การเงินฯ จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
@วอน ‘นายกฯ’ รับรอง อย่าขวาง
ซึ่งนายพริษฐ์ มองว่า เจตนาของกฎหมายนี้ น่าจะเกี่ยวกับการเขียนกติกาเพื่อไม่ให้สภาฯผ่านกฎหมายที่จะผูกมัดฝ่ายบริหารในประเด็นด้านงบประมาณ ถ้าเข้าใจถึงเจตนานี้ ก็จะต้องส่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ซึ่งก็คาดหมายว่า จะไม่มีเหตุใดให้ไม่รับรองร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เพราะเนื้อหาสาระของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีอะไรผูกมัดหรือเพื่มภาระด้านงบประมาณของฝ่ายบริหาร และการยุบ กอ.รมน.น่าจะช่วยลดงบประมาณด้วยซ้ำ ส่วนการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารจะไปเพิ่มภาระทางการเงิน แม้จะมีบางมาตราที่ระบุถึงการจ่ายเงินค่าตอบแทนและสวัสดิการของพลทหารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสมเหตุสมผลมากขึ้นก็ตาม อีกทั้งจังหวะเวลาที่ยื่นร่างนี้ แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ก็หวังว่านายกรัฐมนตรีรักษาการจะไม่ขัดขวางเจตจำนงของรัฐบาลใหม่
@เปิดชุดกฎหมาย 9 ฉบับ
ส่วนกฎหมายทั้ง 9 ฉบับที่ยื่นใหม่ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
ชุดที่ 1 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือการปลดล็อคท้องถิ่นจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.กระจายอำนาจเสนอโดยนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและสมาชิกทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล เห็นไปที่การกระจายอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะให้กับท้องถิ่น, ร่างพ.ร.บ. ขนส่งทางบก เสนอโดยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นการให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดทำขนส่งฐานะกำหนดราคา เส้นทาง และรูปแบบได้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่, ร่างพ.ร.บ.ถนน เสนอโดยนายสุรเชษฐ์ เป็นการจัดระบบถนนและลำดับชั้นของถนนให้เป็นระบบมากขึ้น รวมถึงกระจายงบประมาณด้านถนนลงท้องถิ่นมากขึ้น และร่างพ.ร.บ.ปลดล็อกเวนคืน เสนอโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ ให้ท้องถิ่นสามารถเวนคืนที่ได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องที่
ชุดที่ 2 การป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 2 ฉบับเสนอโดยนายวรภพ วิริยโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการและโปร่งใส ยึดหลักเปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น หากจะปกปิดข้อมูลใด ทางรัฐจะต้องมาชี้แจงเหตุผล และร่างพ.ร.บ.อำนวยความสะดวก เพื่อรื้อระบบการให้ใบอนุญาต ทำให้เกิดความสะดวก ปิดช่องการจ่ายสินบนจากการเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจ
และชุดที่ 3 สิทธิเสรีภาพอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) และร่างพ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศ เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ์ชาวชาติพันธุ์และชนเผ่า
@เสนอสมรสเท่าเทียม กันเหนียวช่วงไม่มี รบ.
โดยนายธัญวัจน์ กล่าวเสริมว่า ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตกค้างมาจากการพิจารณาของรัฐสภาชุดที่แล้ว ซึ่งตามระเบียบจะต้องยืนยันกฎหมายนี้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ 4 ก.ค. 66 ที่มีการปฏิญาณตนที่รัฐสภา ดังนั้น ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ หากไม่มีการยืนยันที่จะเสนอกฎหมายนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะตกไปทันที ดังนั้น การยื่นกฎหมายฉบับนี้คือการทำคู่ขนานในยามที่การเมืองยังไม่แน่นอน โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญเหมืนอกับที่คณะกรรมาธิการฯ ในสภาชุดที่แล้วพิจารณาไว้ การเสนอครั้งนี้ อาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งก็ได้ การเสนอกฎหมายนี้คือการลดความเสี่ยงในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ทัน
@กม.ชาติพันธุ์ เสนอใหม่ หลังถูกดอง
ด้านนายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ์ชาวชาติพันธุ์และชนเผ่าว่า เดิมร่างกฎหมายฉบับนี้ ในสมัยรัฐสภาชุดที่แล้วได้ถูกส่งให้นายกรัฐมนตรีให้การรับรอง เพราะถูกตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน แต่ก็ไม่มีการให้คำรับรองกลับมาแต่อย่างใด
ดังนั้น พรรคจึงได้ปรับปรุงร่างดังกล่าวใหม่ ซึ่งกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ในไทยมีจำนวน 6 ล้านคน ในจำนวนนี้อยุ่บนที่สูงมีประมาณ 2 ล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ โดยเฉพาะการถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าชนิดต่างๆ ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนา สิทธิในสัญชาติ ที่ดิน ทรัพยากร วิถีชีวิต และการพัฒนาโอกาสสร้างอาชีพ กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมบ้ำและสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ เข้าถึงสิทธิต่างๆได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
สาระสำคัญ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. รับรองสิทธิและห้ามไม่ให้เลือกปฏิบัติ หรือการกระทำที่สร้างความเกลียดชัง 2. จัดโครงสร้างตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ และ 3. ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง