เปิดแผนสร้างสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์ เชื่อมน่าน - อุตรดิตถ์ ‘กรมทางหลวง’ จ้างที่ปรึกษาศึกษา 29 ล้าน ผุด 3 แนวทางเลือก ก่อนเคาะแบบที่ 2 ชี้ มี.ค. 67 สรุปผล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 66 มีการจัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ - อ.นาหมื่น จ.น่าน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน
โดยกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ว่าจ้างที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ รวมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย เพราะมีบางช่วงตัดผ่านพื้นที่อุทยาน แห่งชาติศรีน่าน และอุทยานแห่งชาติลําน้ำน่าน วงเงินโครงการ 29 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2565 - วันที่ 17 มี.ค. 2567
@ข้ามแพรถเริ่มแน่น ต้องสร้างสะพาน
ที่มาของโครงการ จากที่กรมทางหลวงสำรวจพบว่า ในการเดินทางระหว่างอ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์และ อ.นาหมื่น จ.น่าน ช่วงที่ผ่านเขื่อนสิริกิตจะต้องเดินทางด้วยแพขนานยนต์เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที มีความประหยัดเวลาในการเดินทาง มากกว่าการเดินทางถนนที่ต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง แต่ในระยะหลังพบว่าปริมาณการจราจรเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ทำให้เกิดแนวคิดที่จะก่อสร้างแนวถนนใหม่ เพื่อข้ามเขื่อนสิริกิติ์ เชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 1339 ช่วงอ.น้ำปาด - บ้านปากนาย จ.อุตรดิตถ์ กับทางหลวงหมายเลข 1026 ช่วงบ้านปากนาย - อ.นาหมื่น อันเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจ.น่าน และ อุตรดิตถ์ไปในตัว
การเดินทางข้ามเขื่อนสิริกิติ์ด้วยแพขนานยนต์
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการมีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 1339 บริเวณกม 100 + 110 อยู่ในพื้นที่ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ข้ามเขื่อนสิริกิติ์ไปเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 1026 บริเวณกม 74 + 670 ในพื้นที่ ต.นาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน ระยะทางประมาณ 3-5 กม. ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน 2 ตำบล 2 อำเภอและ 2 จังหวัด ได้แก่ หมู่ 17 บ้านปากนาย ต.นาทานุ่ง อ.นาหมื่น จ.น่านและหมู่ 2 บ้านงอมมด ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์
สำหรับสภาพปัจจุบันของทางหลวงทั้งสองนั้น กล่าวกับทางหลวงหมายเลข 1339 มีขนาดช่องจราจร 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในและไหล่นอกกว้าง 1.00 เมตร และเขตทางหลวง 30-40 เมตร มีแนวถนนคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา โดยบางช่วงมีความลาดชันค่อนข้างสูง สองข้างทางเป็นป่าไม้และมีบ้านเรือน กระจายเป็นระยะ ภูมิประเทศเป็นเนินเขาและภูเขาสูง ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านและอยู่ใน ความรับผิดชอบของทางแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 2
ส่วนทางหลวงหมายเลข 1026 ขนาดช่องจราจร 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในและไหล่นอกกว้าง 1.00 เมตร และเขตทางหลวง 30-40 เมตร มีสภาพภูมิประเทศ เป็นภูเขา แนวถนนคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่านและอยู่ในความรับผิดชอบ ของแขวงทางหลวงน่านที่ 1 โดยมีจุดแบ่งความรับผิดชอบระหว่างแขวงทางหลวงทั้งสองอยู่ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อน สิริกิติ์ บ้านปากนาย
สภาพทางหลวงหมายเลข 1339
สภาพทางหลวงหมายเลข 1026
@เปิด 3 แนวข้ามเขื่อนสิริกิติ์
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวเส้นทางที่ศึกษาไว้มี 3 แนวทางเลือก เนื่องจากเขื่อนสิริกิติ์บริเวณที่บ้านปากนายมีความกว้างประมาณ 400 – 1,200 เมตร ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ออ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งอาจจะเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ เรือ แพขนานยนต์หรือโป๊ะ ดังนั้น รูปแบบก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์จะต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน ความยาวช่วงของสะพานถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการกําหนดรูปแบบสะพาน สะพานที่มีความยาวช่วงมาก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์น้อยลง จึงมีการศึกษาไว้ให้ประชาชนเลือก 3 แนวเส้นทาง (ดูภาพด้านล่าง)
แนวเส้นทางที่ 1 สีน้ำเงิน ระยะทาง 2.65 กม. จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ กม.ที่ 100+110 ของทางหลวงหมายเลข 1339 ผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่าติลำน้ำน่าน ข้ามเวิ้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ โครงสร้างสะพานยาว 360 เมตร ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านอีก 180 เมตร ก่อนจะข้ามเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 1,160 เมตร แนวของสะพานทางทิศเหนือจะอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ต่อด้วยสะพานบกยาว 320 เมตร
แนวเส้นทางที่ 2 สีแดง ระยะทาง 2.39 กม. มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.ที่ 100+110 ของทางหลวงหมายเลข 1339 ผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ข้ามเวิ้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 280 ม.ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านอีก 140 เมตร ก่อนที่จะข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิต์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 1,150 เมตร แนวของโครงสร้างสะพานด้านฝั่งทิศเหนือจะอยู่ทางด้านซ้ายของทางหลวงหมายเลข 1026เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชุมชนประมงบ้านปากนาย จากนั้นเข้าบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1026 ที่ กม.74+670 และซ้อนทับกับแนวของทางหลวงหมายเลข
1026
แนวเส้นทางที่ 3 สีเขียว ระยะทาง 2.83 กม. จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ กม.ที่ 100+110 ของทางหลวงหมายเลข 1339 ผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เบี่ยงเส้นทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านท่าแพขนานยนต์นาหมื่น โครงสร้างสะพานข้ามเขื่อนสิริกิติ์ยาวประมาณ 800 เมตร ขึ้นฝั่งทางทิศเหนือแล้วเบี่ยงหลบภูเขาไปทางซ้ายตามสันไหล่เขา ต่อเนื่องด้วยคันทางถนนใหม่ไปตามสันไหล่เขา ระยะทาง 500 เมตร เพื่อหาจุดข้ามเวิ้งของเขื่อนในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยโครงสร้างสะพานยาว 520 เมตร จากนั้นจะไต่ความชันของสันเขาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน เป็นระยะทาง 670 เมตร แล้วไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1026 ที่กม.74+670 ซ้อนทับกับแนวทางหลวงหมายเลข 1026
ซึ่งจากการสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 66 ประชาชนเลือกแนวเส้นทางที่ 2 ด้วยคะแนน 83.5 คะแนน
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังเหลือการประชุมกลุ่มย่อย 1 ครั้งในเดือน ธ.ค. 2566 และการสัมมนาโครงการครั้งที่ 3 ในเดือนก.พ. 2567 และคาดว่าะสรุปผลการศึกษาของโครงการได้ในช่วงเดือน มี.ค. 2567 นี้ ซึ่งกรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป