‘นครชัย ขุนณรงค์’ สส.เขต 3 ระยอง ก้าวไกล ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลัง ‘เสรีพิศุทธิ์’ โผล่แฉผ่านรายการดังว่า เคยติดคุก ส่อขาดคุณสมบัติการเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 จากกรณีที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวห้นาพรรคเสรีรวมไทย กล่าวผ่านรายการโหนกระแสวานนี้ (26 ก.ค. 66) พาดพิงถึงพรรคก้าวไกล ว่า มี ส.ส.ของพรรค เขต 3 จังหวัดระยอง เป็นอดีตนักโทษเคยติดคุก ซึ่งเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็น สส. พร้อมระบุว่า จะดำเนินการเอาออกนั้น
ล่าสุด นายนครชัย ขุนณรงค์ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ตลอด 2 วันที่ผ่านมา มีผู้สอบถามเข้ามามากมายว่าผมเคยติดคุกจริงหรือไม่ ขออภัยที่ไม่สามารถตอบได้อย่างทั่วถึง จึงขออนุญาตเรียบเรียงเรื่องทั้งหมดไว้ตรงนี้ เพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ที่ทำให้ต้องติดคุก เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2542 หรือ 24 ปีมาแล้ว ตอนนั้นผมอายุประมาณ 20 ปี กำลังวัยรุ่น วันนั้นสังสรรค์อยู่กับเพื่อนหลายคนในห้อง มีคนเดินเข้าออกไปมาเรื่อยๆ และสังเกตเห็นนาฬิกาผู้หญิงเรือนเล็กๆ เรือนหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะในห้อง ถามว่าของใครก็ไม่มีใครตอบ เลยหยิบมาดูเล่นๆ จากนั้นไม่นาน ตำรวจได้บุกเข้ามาในห้อง จับกุมผมและเพื่อนอีกคนหนึ่งที่สารภาพว่าเป็นผู้ขโมยนาฬิการาคาประมาณ 1,000 บาทเรือนนั้นมา เพื่อนและตนเองจึงถูกนำตัวไปโรงพัก ตำรวจให้เซ็นเอกสาร โดยบอกว่าเรื่องจะได้จบๆ ผมมาทราบทีหลังว่าเอกสารที่ผมได้เซ็นไป คือเอกสารยอมรับสารภาพ
แม้ว่าเพื่อนจะให้การกับตำรวจไปแล้วว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง สุดท้าย ก็ต้องโทษจำคุก 3 ปี และการรับสารภาพ ทำให้ได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ซึ่งได้รับโทษตามนั้นและออกมาประกอบอาชีพสุจริตมาโดยตลอด จนกระทั่งตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. เขต 3 ระยอง ในนามพรรคก้าวไกล เชื่อว่าอดีตที่ผ่านมา ไม่ทำให้ตนขาดคุณสมบัติ เพราะเชื่อว่าข้อหาที่ทำให้ติดคุกไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ
“ผมขออภัยพี่น้องประชาชนทุกคนที่เลือกผมเข้ามาเป็น สส. ผมขอน้อมรับคำวิจารณ์และกระบวนการทางกฎหมายที่จะตามมาหลังจากนี้ทั้งหมด และจะต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุดเพื่อยืนยันว่าผมไม่ได้จงใจสมัคร สส. ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม เพื่อความสง่างามในการดำรงตำแหน่ง สส. ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนโดยการลาออกจากตำแหน่งในสัปดาห์หน้าครับ” นายนครชัยระบุช่วงท้าย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บัญญัติถึงลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามมาตรา 98 ระบุดังนี้
มาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
(13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(18) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม
ที่มาภาพ:ไอซ์ ระยอง