เปิดท่าที 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมกับการโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯรอบ 2 ‘รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย’ มองโหวตรอบ 2 ไม่ได้ ขัดข้อบังคับรัฐสภา เตรียม ส.ส.อภิปราย ส่วน ‘พลังประชารัฐ’ ยังนิ่ง ขอดูหน้างานก่อน ปฏิเสธ ‘บิ๊กป้อม’ เตรียมเป็นนายกฯ ด้าน ปชป. ยังสงวนท่าที
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง 4 พรรค ประกอบด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกนัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
@รวมไทยสร้างชาติ: ขวางดัน ‘พิธา’ โหวตนายกฯรอบ 2
นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) แถลงภายหลังประชุมส.ส.ของพรรคเมื่อวานนี้ (18 ก.ค. 66) ว่า มติพรรคเห็นว่า ในการเสนอญัตติเลือกนายกรัฐมนตรียังเป็นมติเดิมที่เคยมีการพิจารณาผ่านไปและตกไปแล้ว การจะนำญัตติดังกล่าวมาเสนออีกครั้งพรรคเห็นว่า เป็นการกระทำผิดข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาในข้อที่ 41 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่สามารถนำกลับขึ้นมาพิจารณาได้ใหม่อีกครั้งในสมัยประชุมปัจจุบัน แม้จะมีข้อยกเว้นว่า จะสามารถกระทำได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสถานการณ์จากสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ทั้งการยืนยันที่จะมีการนำเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หรือการที่พรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะเข้าไปแก้ไข ม.112 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร สถานการณ์ทุกอย่างยังคงเดิม ดังนั้นพรรคจึงเห็นว่าไม่สามารถนำญัตตินี้เข้ามาพิจารณาได้อีก และหากมีการนำเสนอญัตตินี้เข้ามาในสภา สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติจะขึ้นอภิปรายชี้แจงและขอเหตุผลจากประธานรัฐสภา ว่าเหตุใดจึงยกมตินี้ขึ้นมาพิจารณาซ้ำอีก
ทั้งนี้ พรรคได้มอบหมายให้นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค และตนเป็นผู้อภิปรายในการประชุม หากประธานรัฐสภานำญัตติเสนอชื่อนายพิธากลับมาพิจารณาโหวตเลือกเป็นนายกฯอีกครั้งถือว่า ผิดระเบียบการประชุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการนำเสนอชื่อจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติจะดำเนินการอย่างไร โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า พรรคยังคงยืนยันว่าหากยังคงมีพรรคที่มีนโยบายที่ต้องการแก้ ม.112 เป็นองค์ประกอบ พรรคก็จะไม่โหวตให้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเอาหางเป็นหัว หรือเอาหัวไปเป็นหาง ถ้าองค์ประกอบยังคงเป็นเหมือนเดิมพรรคก็จะไม่สนับสนุนอย่างแน่นอน และนี่เป็นความชัดเจนของพรรครวมไทยสร้างชาติมาโดยตลอด
อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ
@พลังประชารัฐ: ดูหน้างาน - ไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ขณะที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา ในฐานะประธานประสานงาน สส.พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมพรรควานนี้ (18 ก.ค.66) ในส่วนทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคยังต้องดูหน้างาน
ส่วนการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขัดกับข้อบังคับที่ 41 ที่ไม่ให้เสนอญัตติซ้ำหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตอนนี้ยังพูดอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีข้อสรุปแน่นอน ฉะนั้น จะต้องขอดูหน้างานก่อน และวันที่ 19 ก.ค.นี้จะมีการประชุมสส.ก่อนในช่วงเช้า กับคำถามที่ว่า มองการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ญัตติควรตกไป ไม่ควรเสนซ้ำหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวย้ำว่า ตอนเช้าในวันที่ 19 ก.ค.จะมีการพูดคุยกัน เมื่อถามว่า หากเป็นชื่อของนายพิธา จุดยืนจะยังคงเป็นเหมือนเดิมใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ย้ำอีกว่า ขอดูหน้างาน
เมื่อถามว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กำชับอะไรในที่ประชุมหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ที่ประชุมพรรควันนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 ก.ค. แต่จะเป็นการพูดถึงนโยบายของพรรคในอนาคตมากกว่า รวมถึงการหารือเรื่องพื้นที่ของ สส. และการเตรียมอภิปรายของ สส. ในสภา เมื่อถามย้ำว่า เป็นการเตรียมเพื่อไปเป็นรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ยิ้มพร้อมกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยถึงประเด็นนี้ เมื่อถามอีกว่าพรรคเพื่อไทยได้มีการติดต่อมาหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ เพราะยังไม่ถึงเวลา ขอให้ประเด็นการโหวตเลือกนายกฯในวันที่ 19 ก.ค.ผ่านไปก่อน
เมื่อถามต่อว่านายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคก็ดีหมด พรรคเราคิดว่าเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาว่าจะแสดงความเห็นอย่างไร เมื่อถามย้ำอีกว่า ถ้าเป็นนายเศรษฐา พรรคพลังประชารัฐจะทำงานง่ายขึ้นใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พรรคเรามีแนวทางชัดเจน คือก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นยังเหมือนเดิม ไม่ว่าท่านใดจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หากไม่มีประเด็นสำคัญที่เราเคยมีจุดยืนไว้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาลด้วย พรรคพลังประชารัฐจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เนื่องจากพรรคเรามี สส.เพียง 40 คน ดังนั้น การกำหนดทิศทางการเมืองเราจะเดินไปพร้อมกัน และขอฉันทามติจากคณะกรรมการ และ สส. เพราะฉะนั้นจะพูดตรงนี้ไม่ได้ สำหรับกระแสข่าวในช่วงนี้ที่มีการจะดัน พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเราไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด ขอยืนยัน
เมื่อถามว่า เท่าที่ดูโอกาสของ พล.อ.ประวิตร ในการเป็นนายกฯยังมีหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนและหัวหน้าพรรคยืนยันชัดเจน ว่าการจะตัดสินใจทางการเมืองเราต้องมีมารยาท ดังนั้น หลังจากที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งไม่ได้แล้วก็จะต้องเป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทย ขอยืนยันชัดเจนว่าเราจะไม่เสนอชื่อหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ เสียงข้างน้อยเด็ดขาด เมื่อถามย้ำว่า ถ้ารวมกับพรรคเพื่อไทยได้คงไม่น่ามีปัญหาอะไรใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า คือสรุปแล้วเราไม่ทำรัฐบาลเสียงข้างน้อย
กับคำถาามว่า ถ้ารวมได้จะไม่ปิดประตูใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาของพรรคพลังประชารัฐ ต้องรอก่อน ต้องให้พรรคเพื่อไทยก่อน เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์ว่าเพื่อไทยอาจจะมีเงื่อนไขพานายทักษิณ ชินวัตรกลับบ้าน หวยจึงอาจจะต้องมาตกที่ พล.อ.ประวิตร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนว่าเราอย่าพึ่งคิดไกลไปขนาดนั้น เอาวันที่ 19 ก.ค.ให้ผ่านไปก่อน เมื่อถามว่า กระแสของ พล.อ.ประวิตร ที่จะเป็นแคนดิเดตชิงนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด จากประสบการณ์ปี 2562 มันสอนเรามาเยอะ
เมื่อถามว่า ยังคงยืนยันหลักการเดิมที่พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะเป็นพรรคอันดับที่สอง ถ้าไม่ได้ก็เป็นพรรคอันดับที่สามคือ พรรคภูมิใจไทยใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า โดยมารยาททางการเมืองก็ควรที่จะเป็นมาอย่างนั้น เมื่อถามว่า การโหวตนายกฯ ควรที่จะเร็วที่สุดใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หลังจากวันที่ 19 ก.ค.ถ้ามีอะไรชัดเจนแล้ว สัปดาห์ต่อไปก็ควรจะจบได้แล้ว
เมื่อถามว่า ห่วงความวุ่นวายจะเกิดขึ้นหรือไม่ หากนายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เชื่อว่าบ้านเราเมืองเราถึงจุดหนึ่ง คนไทยก็จะกลับมารักกัน จากประสบการณ์ทางการเมืองตนเชื่ออย่างนั้น ถามต่อว่า แต่บางส่วนมองว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายจะรุนแรงขึ้นมากกว่าในอดีต ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พวกเราไปคิดกันเองเราอย่าพึ่งไปวิตกกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น
ถามว่า มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นในการโหวตนายกในวันที่ 19 ก.ค. หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ได้คุยแต่เราจะนัดหารือกันตอนเช้าวันที่ 19 ก.ค.ที่สภา เมื่อถามว่า จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐยังเหมือนเดิมใช่หรือไม่คือไม่โหวตให้นายพิธา ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ต้องดูเช้าวันที่ 19 ก.ค. หลังจากพูดคุยกันแล้ว เพราะต้องมีการประสานกับพรรคอื่นด้วย เมื่อถามว่า ถ้าพรรคก้าวไกลถอยแก้มาตรา 112 พรรคพลังประชารัฐจะโหวตให้หรือไม่ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องดูหน้างานก่อนไปพูดตอนนี้ไม่ดี เมื่อถามว่า ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังพูดคุยกันอยู่ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ก็คุยกันปกติ เมื่อถามว่า การโหวตของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมควรจะเป็นทิศทางเดียวกันหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องของเหตุและผล
เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐา ขึ้นมาพรรคพลังประชารัฐพร้อมจะโหวตให้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่มีวันที่ 19 ก.ค.ไม่น่าจะมีท่านอื่นนอกจากนายพิธา ซึ่งการจะโหวตอย่างไรนั้น พรรคพลังประชารัฐก็ต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุม เมื่อถามว่า หากวันที่ 19 ก.ค.ญัตติโหวต นายพิธาตกไป พรรคเพื่อไทยก็สามารถเสนอ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยเข้ามาได้เลยใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่มีไม่น่าจะมีการเสนอพรรคใดในวันที่ 19 ก.ค. ตนเชื่อว่าถ้าญัตติโหวต นายพิธาตกไป ก็คงจะปิดการประชุม
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา ในฐานะประธานประสานงาน สส.พรรคพลังประชารัฐ
@ภูมิใจไทย: ดัน ‘พิธา’ รอบ 2 ขัดข้อบังคับสภา
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงผลภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ครั้งที่ 3 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานการประชุมว่า ในที่ประชุมได้หารือหลากหลายประเด็นก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งได้ย้ำ 2 จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นสำคัญจากที่มีการประชุมวิป3ฝ่ายได้แก่ วุฒิสภา(ส.ว.) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และ10พรรคทางขั้วรัฐบาลปัจจุบัน มีการถกเถียงเรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 จะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯซ้ำได้หรือไม่ พรรคภูมิใจไทยจึงมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯซ้ำได้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับฯข้อที่ 41 เราจะยืนยันมติที่จะไม่กระทำการขัดข้อบังคับฯดังกล่าว หากในวันพรุ่งนี้ (19ก.ค.) ที่ประชุมรัฐสภา หรือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังมีความเห็นที่จะเสนอชื่อนายกฯคนเดิมซ้ำ ทางพรรคภูมิใจไทยได้เตรียมผู้อภิปรายแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้แล้วแน่นอน
“พวกเรามีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่มีความเป็นห่วงกับแนวคิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เราเป็นห่วงสังคม เราไม่เห็นด้วย และจะทำทุกวิถีทางเพื่อปิดกั้นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบนี้ นั่นก็คือพรรคก้าวไกล” นายภราดร กล่าว
เมื่อถามว่าช่วงโค้งสุดท้ายคิดว่าจะมีใครมาเสนอชื่อนายกฯแข่งกับนายพิธาหรือไม่ โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เป็นไปตามจุดยืนของพรรคคือไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่พรรคอื่นตนไม่ทราบว่าจะมีใครเสนอชื่อแข่งกับนายพิธาหรือไม่
ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย
@ประชาธิปัตย์: ยังไม่เปิดท่าทีโหวต-ไม่โหวต
ปิดท้ายที่นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนในการโหวตนายกรัฐมนตรีว่า ตนและทางพรรคฯ จะมีการดำเนินการประชุมอย่างเร่งด่วน หากมีสถานการณ์เฉพาะหน้าที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ทางพรรคประชาธิปัตย์ ขอย้ำว่า จุดยืนของพรรคฯ ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ก็คือ พรรคที่เสนอแคนดิเดตนายกฯ จะต้องไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย จะมีอายุสั้น
และที่สำคัญพรุ่งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการพิจารณาว่า ใครที่ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตามเงื่อนไขและจุดยืนของพรรคข้างต้น
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น ตนจึงอยากฝากไปยังพรรคก้าวไกล ช่วยดำเนินการที่จะหยุดยั้งการกระทำของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฯ ในการโพสต์ข้อความหรือการแสดงออกในข่มขู่ คุกคาม หรือแอนตี้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้สนับสนุนต้องการ เพราะหากกลุ่มคนเหล่านี้ ยึดมั่นกฎ กติกา มารยาท และแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว จะต้องยอมรับในสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจ และนำไปแก้ไขให้ถูกต้อง ไม่ใช่มาดึงดันให้คนอื่นเห็นด้วยตามที่ตัวเองต้องการ
รวมทั้ง ตนเห็นว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกล ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นนโยบายค่าแรง 450 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน ดังนั้น ตนอยากให้พรรคก้าวไกล ทำ 3 นโยบายนี้ให้สำเร็จก่อน เพราะประชาชนต่างคาดหวังให้พรรคก้าวไกลดำเนินการมากกว่าการไปแก้ไขกฎหมายที่คนไม่กี่คนได้ประโยชน์ แต่มีคนเดือดร้อนกันทั้งประเทศด้วย
ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์