ชัชชาติประชุมร่วม ACT ประเมิน 1 ปี งานปราบคอร์รปชั่น ชี้ยังมีอุปสรรค แนะเร่งตัดกฎหมาย-ระเบียบล้าสมัย ตั้งผู้ตรวจสอบภาษีรายเขต แทนให้อำนาจเขตประเมิน จี้รับเหมา-คู่ค้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ปราบโกง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การประชุมความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ องค์กรต่อต้านคอร์รับชัน (ประเทศไทย) (ACT) เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.66) เป็นการประชุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่หารือร่วมกับ ACT ในประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชั่นโครงการต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเป็นคำสั่งจากประชาชน
ทาง ACT ก็มาตรวจการบ้าน ซึ่งมี 6 เรื่องที่ดำเนินการร่วมกัน ประกอบด้วย
1.นโยบายไม่รับของขวัญกำนัล
2.การนำระบบราชการขึ้นออนไลน์พัฒนาการติดต่อขออนุญาต
3.ความโปร่งใสการจัดซื้อจ้างทำ open contract
4.การประกาศเจตนารมณ์เพื่อความโปร่งใสไม่รับคอมมิชชั่นในการจัดซื้อยา
5.การให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ประกาศเข้าแนวร่วมต่อต้านคอร์tรัปชัน (Collective Action Against Corruption: CAC )
และ 6.กรุงเทพมหานครประกาศเจตนารมณ์แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านทุจริต
@แนะรื้อกฎหมาย ตัดระเบียบล้าสมัยออกไป
ทั้ง 6 เรื่องก็ดำเนินการอยู่ บางเรื่องอาจมีช้าบ้าง อย่างเช่น เรื่องการอนุญาตออนไลน์ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว แต่ยังมีข้ออุปสรรคอยู่บ้าง เช่น คนยังไม่ค่อยนิยมใช้อาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้งานระหว่างโปรแกรมกับคน ซึ่งจะมีการปรับปรุงและจะทำให้ดีขึ้น หรือเรื่องกรุงเทพธนาคมที่เข้า CAC ก็อยู่ในกระบวนการเตรียมเอกสาร ทั้ง 6 ข้อนี้ได้ดำเนินการหมดแล้ว และเป็นไปได้อย่างค่อนข้างดี ส่วนปีถัดไปทาง ACT มีเสนอเรื่องกิโยตินกฎหมาย เพื่อพิจารณาตัดข้อระเบียบที่ไม่ทันสมัยออก เนื่องจากระเบียบเหล่านี้มีช่องทางในการทุจริตได้
@จี้รับเหมา - คู่ค้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ด้วย
นอกจากนี้ ACT ได้หารือเรื่องการกระตุ้นให้คู่ค้า ผู้รับเหมา หรือคนที่มีสัญญากับเราเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์และการต่อต้านคอร์รัปชั่นถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากคอร์รัปชั่นตบมือข้างเดียวไม่ดัง ต้องมาจากสองฝั่ง หากฝั่งที่เป็นคู่ค้ารับเจตนารมณ์นี้จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งการประกาศเจตนาให้ชัดเจน เช่น เรามีนโยบายไม่รับของขวัญก็ควรจะประกาศให้ทุกเขตเห็นชัดเจนว่าไม่มีแม้กระทั่งกินข้าว ก็ห้ามพาเจ้าหน้าที่ไปเลี้ยง และสื่อสารเรื่องนี้ถึงทุกคนให้เข้าใจตรงกัน
ส่วนเรื่องอาจจะมีจุดที่มีช่องโหว่ เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากสามารถนำขึ้นออนไลน์ ทาง ACT ก็แนะนำว่าควรจะขึ้นออนไลน์เพื่อให้ประชาชนทราบว่าภาษีประเมินเท่าไหร่ รวมถึงแนะนำให้มีผู้ตรวจสอบ คือแทนที่จะให้แต่ละเขตมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการประเมินภาษี อาจมีผู้ที่เข้าไปตรวจสอบในแต่ละเขต ออกสุ่มตรวจว่าประเมินถูกต้องหรือไม่ ภาษีป้ายถูกต้องหรือไม่ เหล่านี้เป็นข้อแนะนำที่เราจะนำไปพัฒนาแผนปี 2 ภายใน 2 สัปดาห์ จะส่งกลับให้ ACT เพื่อให้มาตรวจความคืบหน้าและรับการบ้านซึ่งกันและกันในปีหน้า
วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) กล่าวว่า เรื่องสำคัญๆ ที่ กทม. ดำเนินการ เช่น เรื่อง open contract partnership (ocp) มาตรฐานสากลที่ ทาง ACT ก็มีภาคีเป็นผู้ประสานในเรื่องนี้อยู่ก็จะเป็นบรรทัดฐานเป็นมาตรฐานสากลสอดคล้องกับเรื่องระดับชาติ และสิ่งสำคัญที่ขอและเป็นความคาดหวังของประชาชน คือ สิ่งต่างๆ ที่กทม.มุ่งมั่นทำอยู่ในเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น อยากให้เป็นต้นแบบพร้อมกับการเป็นบรรทัดฐานเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งหวังว่ารัฐบาลระดับชาติจะได้รับไป และหวังว่าจะทำได้ดีกว่านี้
“การต่อต้านคอร์รัปชั่นขึ้นอยู่กับความไว้วางใจ การเอาประชาชนเป็นแนวร่วม จะมีผลมากเพราะประชาชนก็จะรู้ปัญหาต่างๆ หากเขาไว้ใจเราเมื่อไหร่ เราจะมีช่องทางและมีแนวร่วมในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากขึ้นจึงต้องพยายามสร้างความไว้ใจให้กับประชาชนมั่นใจว่าเราเอาจริงจังแล้วก็ทำจริง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
การประชุมวันนี้ นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธ์ุ ผิวงาม รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)