‘พิธา’ นำทีมก้าวไกล บุกศาลากลางกทม. พบ ‘ชัชชาติ’ หารือการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วย เปิดหารือ 3 ข้อ ตั้งคณะทำงาน-รับข้อเสนอผู้ว่า 21 เรื่อง - ช่วยกันดันกฎหมาย 45 ฉบับ เน้นหนักแก้ พ.ร.บ.กทม.ปี 28 เปิดทางเลือกตั้งผอ.เขต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมหารือในการผสานความร่วมมือระหว่างกัน
โดยนายพิธา เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกัน ได้ข้อสรุป 3 ประการ ได้แก่
1. จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างกทม.กับพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลได้นำเสนอนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นประธานทางฝั่งของพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการซึ่งมาจากฝั่งของพรรคก้าวไกล ในส่วนของ กทม.มีนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานฝั่งกทม. รวมถึงคณะกรรมการท่านอื่นในฝั่งของกทม. เพื่อให้เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่ออย่างเป็นรูปธรรม การประชุมวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่การประชุมเสร็จแล้วก็เลิกกันไป แต่จะกำหนดประเด็นพิจารณาและจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เพื่อประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครทุกคน
2. รับข้อเสนอจากผู้ว่าฯกทม. ทั้งหมด 21 ข้อ ซึ่งต้องประสานงานกับพรรคเรา เพื่อที่จะให้พรรคก้าวไกลไม่ว่าจะเป็นส.ส. 32 คน ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี หรือว่าที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ก็ดี ในการผ่านกฎหมายให้ท่านผู้ว่าฯกทม. ทำงานได้ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเดินทางของรถยนต์ ถ้าเป็นรถขนาดต่ำกว่า 4 ล้อ กรุงเทพมหานครมีอำนาจในการตรวจ แต่หากขนาดมากกว่า 4 ล้อ จะเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้
3.กฎหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลต้องการจะนำเสนอ และเป็นกฎหมายที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ที่กรุงเทพมหานครนั่นคือการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งนายกเขต หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตต่างๆทั้ง 50 เขต
“วันนี้เรามาในนามพรรคครับ เพราะ ส.ส.กทม.ของพรรคก้าวไกลได้มา 32 คน จาก 33 คน ส่วนข้อเสนอทั้ง 21 ข้อ จริงๆแล้วมีบางส่วนที่ตรงกับนโยบายของพรรคและกฎหมาย 45 ฉบับที่กำลังให้แก้ไขกัน ก็เรียนกับท่านผู้ว่าฯ ต่อไปเราก็คงต้องมาเรียงลำดับความสำคัญ ไม่ว่าจะยื่นกฎหมายฉบับใด จะต้องรับฟังความเห็นของ กทม.ด้วย การประชุม ครม. จะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ว่าฯ ทำงานด้วยความรวดเร็วได้เช่นกัน ส่วนคณะกรรมการที่จะมีขึ้น ต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายไปคุยกันก่อนว่า จะมีกันกี่คน” นายพิธาระบุ
@เปิด 3 ปมด่วน
ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ กทม.ขอให้พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปทำ นายพิธาเปิดเผยว่า ตอนนี้ก็มีเรื่องน้ำท่วม เพราะเข้าหน้าฝนแล้ว คงต้องเอาเรื่องการบริหารจัดการน้ำเข้ามาดู เรื่องเขื่อน การป้องกันน้ำทะเลหนุน 2. การคมนาคม โดยเฉพาะปัญหารถติดที่สามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ซึ่งในพรรคมีการศึกษาการทำฟีดเดอร์ไว้แล้ว และ 3. PM2.5 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องประสานความร่วมมือในหลายภาคส่วน หลายเรื่องเกิดใน กทม. เช่น คมนาคม การควบคุมการก่อสร้าง, หลายเรื่องเป็นต่างประเทศ เช่นฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น แต่ละเรื่องต้องมีกฎหมายและการทำงานของหลากหลายหน่วยงานร่วมกันดูแล
เมื่อถามอีกว่า การแก้ปัญหารถติดในกทม. จะทำได้มากน้อยขนาดไหน นายพิธาตอบว่า มีความตั้งใจว่า จะทำให้บรรเทาให้ได้มากที่สุด โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ และการเดินทางที่มีรอยต่อเยอะ เช่น รถไฟฟ้าที่ต้องไปต่อแถวกันเอาใหม่ และการให้เป็นตั๋วใบเดียวให้ได้ หรือการทำระบบขนส่งสาธารณะที่ ส.ก.ของพรรคเสนอเป็นข้อบัญญัติไปแล้ว โดยรถ 1 คันบรรทุกได้ 20 คัน น่าจะบรรเทาปัญหาได้ แต่ก็ไม่ได้จบที่กทม. เพราะยังมีจังหวัดปริมณฑลที่ต้องไปจัดการปัญหา เช่น นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ เป็นต้น
ถามอีกว่า ประเด็นตั๋วร่วมไม่เคยมีรัฐบาลใดทำสำเร็จ รอบนี้น่าจะได้ใช่ไหม นายพิธากล่าวว่า ได้มอบให้นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลเป็นผู้จัดทำ มีหลายโมเดลพอสมควร แต่ขณะเดียวกัน ก็น่าจะมีคณะทำงาน 2 ชุดที่จะต้องประสานกันคือ คณะกรรมการประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคด้านคมนาคม และประสานงานมาที่กทม. ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน
@สายสีเขียว-ย้ายท่าเรือคลองเตย ยังมีเวลาคุย
ส่วนประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการย้ายท่าเรือคลองเตย นายพิธาระบุว่า ทั้ง 2 ประเด็นยังอยู่ระหว่างการหารือ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวาระคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน พร้อมที่จะเข้าใจความตั้งใจของนายชัชชาติที่จะย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปที่แหลมฉบัง คงต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะแหลมฉบังอยู่ในจังหวัดที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามาก และได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารท่าเรือแหลมฉบังด้วย ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายสุรเชษฐ์มีข้อมูลแ้ว แต่ต้องรอให้สะเด็ดน้ำกว่านี้
ด้านนายชัชชาติตอบว่า เรื่องท่าเรือคลองเตยยังต้องคุยกัน แต่ที่หยิบขึ้นมาเพราะเห็นว่าในวาระแห่งชาติเรื่องฝุ่น มีประเด็นนี้รวมอยู่ด้วย แต่ยังไม่มีการดำเนินการ อย่างน้อยก็เอาแผนมาทบทวนกัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเชียวต้องคุยกันต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอทั้ง 21 ที่นายชัชชาติเสนอประกอบด้วย
1.การใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน
2.ร่วมผลักดันโครงการตามวาระแห่งชาติเรื่อง ฝุ่น PM2.5
3.ทบทวน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
4.ร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาจราจร
5.ศึกษาแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำทะเลขึ้นสูง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน
6.หาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความเป็นจริง
7.นำสายสื่อสารลงดิน โดย กสทช กทม กฟน และ ผู้ประกอบการ
8.หาข้อสรุปร่วมกันสำหรับโครงการรถไฟฟ้า
9.สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารร่วม รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ให้เป็นระบบเดียว
10.ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง
11.พัฒนา Open Bangkok โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐ
12.ส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมือง
13.ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
14.แก้ พ.ร.บ.กทม ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
15.เร่งรัดโครงการค้างอยู่ที่ต้องอาศัยเงินจากรัฐบาล
16.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
17.ส่งเสริมกลไกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงพยาบาล Bangkok Health Zones
18.ยกระดับระบบการป้องกัน บรรเทาสาธารณภัยและการบริหารเรื่องฉุกเฉินตั้งแต่การเผชิญเหตุไปจนถึงการชดเชยค่าเสียหาย
19.ทบทวนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขและสาธารณภัย
20.ทบทวนแนวทางการจัดทำความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของ เมืองให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น
21.ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป