สธ. ร่วมกับ รพ.ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ-รพ.สมเด็จพระยุพราช-รพ.ชัยพัฒน์ ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มคุณภาพบริการ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้สะดวก เท่าเทียม และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายอย่างเป็นระบบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ กับผู้บริหารส่วนกลางและผู้บริหารในกลุ่มโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อาทิ นพ.พงเกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติโชต ตั้งกิตติถาวร ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ และผู้อำนวยการ/ผู้แทนจากกลุ่มโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลประชาชนในถิ่นทุรกันดารห่างไกล มีปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ให้เข้าถึงการบริการสุขภาพได้มากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น แต่จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เขตชนบทมีความเป็นเมืองมากขึ้น ประชาชนในชนบทเข้าถึงบริการสุขภาพสะดวกขึ้น แต่ประชาชนในเขตเมืองกลับเข้าถึงบริการสุขภาพได้ลดลง จึงมอบให้สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ เพื่อปรับแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า กลุ่มโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 11 แห่ง และโรงพยาบาลชัยพัฒน์ 5 แห่ง ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิในทุกมิติ เช่น ลดแออัด ลดรอคอย การให้บริการตามนโยบาย 3 หมอ และ Telemedicine เป็นต้น มีการทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น จึงให้เป็นหน่วยนำร่องในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในระบบปฐมภูมิ เช่น จัดตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นรูปธรรม จัดทำยุทธศาสตร์ แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูลและเครือข่ายอย่างเป็นระบบใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม หารือผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ รวมถึงการกำหนดนิยามปฐมภูมิในบริบทสังคมยุคใหม่ให้ประชาชนในเขตเมืองเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น และเป็นต้นแบบให้กับสถานบริการปฐมภูมิอื่นๆ ในการพัฒนาระบบบริการให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของกลุ่มโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มีการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งการให้บริการด้านสุขภาพ ด้านชุมชน แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะเฉลิมพระเกียรติ Smart hospital การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมเพื่อดูแลผู้ยากไร้ ส่วนโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ มีการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน ยกระดับบริการด้วยดิจิทัลสุขภาพ เป็นโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียงและโรงพยาบาลสีเขียว ขณะที่โรงพยาบาลชัยพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนทในพื้นที่พิเศษและพื้นที่เกาะ มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยผ่านมาตรฐาน Green & Clean Hospital ระดับดีมาก Plus เกือบทุกแห่ง