ป.ป.ช.ถก กทม.หารือรูปแบบแนวทางการป้องกันทุจริต เน้นนำเทคโนโลยีแก้ปัญหา ขณะ 'ชัชชาติ' แจงการส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ สปท.) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน และหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566
ในการนี้ มีนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ,นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการ สปท. เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงไม่ได้จัดให้มีการประชุม ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการกำหนดสาระสำคัญในเรื่องกรอบระยะเวลาในการไต่สวนคดีทุจริต กำหนดความรับผิดชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อำนวยการและบริหารคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการดำเนินการเองในเรื่องร้ายแรงและมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการในเรื่องไม่ร้ายแรงตลอดจน ติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นเอกภาพ ในการทำงาน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการทางคดีจะส่งผลสู่ประสิทธิภาพความสำเร็จไปสู่การป้องปราม
ปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. กำลังเร่งรัดสะสาง งานค้างเก่า โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน อันจะส่งผลไปสู่ความเป็นธรรม รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และความมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งเน้นการปฏิบัติงานในด้านการป้องกัน นำการปราบปราม เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทุจริต หรือหากเกิดการทุจริตขึ้น เพื่อลดความเสียหาย หรือลดการแพร่กระจายของปัญหาไปสู่พื้นที่อื่น ๆปัจจัยสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าด้านการปราบปรามหรือการป้องกันการทุจริต จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องการแจ้งเบาะแส และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพื่อนำมาจัดการกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วโดยมีกลไกสนับสนุนในเรื่องงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดจะมีคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด... เป็นศูนย์กลาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ และมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ร่วมกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า “พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ แม้จะไม่มีกลไกในรูปแบบคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญและดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษ ในฐานะศูนย์กลางทางการบริหาร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเกือบทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ดังนั้น คณะอนุกรรมการ สปท. กทม. ชุดนี้ จึงเป็นกลไกความร่วมมือที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกัน ขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าความตั้งใจนี้ จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบได้อย่างแท้จริง”
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น กรุงเทพมหานครพร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช.ในการดำเนินการดังกล่าว และจะใช้ แนวทางการป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของ กทม. ต่อไป “
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณา แนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร หรือ ศปท.กทม.ซึ่งหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการในเดือนธันวาคม 2564 ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีความร่วมมือดำเนินการในเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และ การประสานการดำเนินการต่อเรื่องกล่าวหาร้องเรียน