มูลนิธิชีววิถี และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และผู้นำรัฐบาล ยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษโดยทันที
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และผู้นำรัฐบาลยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษโดยทันที ระบุว่า
จากกรณีปัญหาฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 19 มี.ค. 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 1,730,976 ราย ชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับวิกฤตและเป็นภัยพิบัติร้ายแรงแล้วนั้น
มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ขอเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยทันที เนื่องจากเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาคเหนือหลายจังหวัด
จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศพม่า เพื่อเป็นอาหารสัตว์รวม 1.83 ล้านตัน มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 97.8% ของปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย หรือประมาณ 70% ของผลผลิตข้าวโพดทั้งหมดของพม่า) โดยพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ของพม่า (56%) อยู่ในรัฐฉานซึ่งเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่กำลังเผชิญฝุ่นพิษจนหลายจังหวัดติดอันดับพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกไปแล้วในปัจจุบัน
การนำเข้าของไทยดังกล่าวเป็นการนำเข้าตามกรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ให้องค์การคลังสินค้าสามารถนำเข้าข้าวโพดได้ทั้งปี และอนุญาตให้เอกชนสามารถนำเข้าได้ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. - 31 ส.ค. ของทุกปี โดยไม่ต้องเสียภาษี นั้น รัฐบาลไทยสามารถยุติการนำเข้าได้ ตามเงื่อนไขในความตกลง Article 8 (b) General Exceptions ที่มีข้อยกเว้นให้ประเทศภาคีสามารถยุติการนำเข้าได้เพราะเหตุว่า เป็นการดำเนินการอันจำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีอื่นๆที่่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องแสดงความเป็นผู้นำในการปกป้องสุขภาพของประชาชน มากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารสัตว์ ที่จะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบราคาถูกที่ไม่ต้องเสียภาษีจากแหล่งผลิตที่สร้างฝุ่นพิษข้ามพรมแดน