ตำรวจรวบองค์กรอาชญากรรมทางไซเบอร์ข้ามชาติชาวอินเดีย ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับชาวต่างชาติ 5 คน ชาวไทย 15 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนเสียกรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร.,พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ง. นายคริสโตเฟอร์ โรดี (Mr.Christopher Rohde ) ผู้ช่วยทูต US Secret Service,นายคริสโตเฟอร์ แคนเทล (Mr.Christopher Cantrell ) ผู้ช่วยทูตเอฟบีไอ ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลปฎิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามยุทธการ Shell game ปิดล้อมค้น 9 จุด จับกุมเป้าหมาย 36 ราย ในพื้นที่ จ.ชลบุรี, จ.ระยอง, จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุราษฎร์ธานี
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปลายปี 2565 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการประสานข้อมูลสืบสวนจากตำรวจลับสหรัฐ(US Secret Service),สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา(FBI) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา กรณีมีกลุ่มองค์กรอาชญากรรมทางไซเบอร์ชาวอินเดียร่วมกับชาวไทยตั้งตัวเป็นกลุ่มคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผู้สูงอายุในประเทศสหรัฐอมริกา โดยออกอุบายข่มขู่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทำให้เกิดความกลัว โดยให้เหยื่อโอนเงินไปตรวจสอบ รวมทั้งใช้วิธีการส่งไวรัสไปยังคอมพิวเตอร์ของเหยื่อ และหลอกให้โอนเงิน ซึ่งในปี 2563-2564 พบสถิติมากถึง 72,000 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บช.สอท. โดย พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พน้อมกำลังจึงเข้าคลี่คลายคดีภายหลังรัฐบาลสหรัฐได้ ส่งคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา จำนวน 365 คดี
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนพบว่าขบวนการมีลักษณะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแบ่งหน้าที่กันทำงาน เพื่อยักย้ายถ่ายเทปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด โดยใช้ประเทศไทย กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเชีย ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรต เปรูและโปแลนด์ เป็นแหล่งรับเงินที่ได้จากการหลอกลวง มีมูลค่าความเสียหาย 3 พันล้านบาท ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย มีทั้งอาชีพหมอ อาจารย์มหาวิทยาลัย ทันตแพทย์ ทหารและเจ้าของธุรกิจ
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่ามีเงินหมุนเวียนในเครือข่ายกว่า 1 พันล้านบาท โดยพบบัญชีธนาคาร นิติบุคคลในเครือข่าย ร้านทองและกิจการร้านอาหาร สถานบันเทิงในพื้นที่ จ.ชลบุรี หลายแห่งที่ใช้ในการฟอกเงินให้กับเครือข่ายขบวนการ โดยใช้ในการโอน รับโอน ผลประโยชน์ที่ได้จากการหลอกลวงเหยื่อ ซึ่งพบว่ามียอดเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท ทุกเดือนในแต่ละบัญชี จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา และขอหมายค้นเพื่อทำการตรวจยีดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเปิด ปฏิบัติการ SHELL GAME
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สามารถจับกุมผู้ต้องหาเป็นชาวอินเดีย 5 ราย คือ
นายเทวันชู นันดากิชอร์ โจชิ อายุ 42 ปี
นายอวตาร์ ชิงห์ อายุ 36 ปี
นายโยเกช กุมาร อายุ 34 ปี
นายการุณัลกุมาร์ กอทเช็กไพ โทปิวาลา อายุ 40 ปี
นายคีตาน ตรีภูวันเดช ปานจัล อายุ 53 ปี
นอกจากนี้มีผู้ต้องหาชาวไทย 15 ราย คือ
น.ส.ดรัณย์นภัทธ์ หินจันทร์ อายุ 33 ปี
น.ส.ปรีญาพร หินจันทร์ อายุ 27 ปี
นางอารียาภรณ์ ศรีดงกลาง อายุ 41 ปี
น.ส.สาคนินท์ แสนประดิษฐ์ อายุ 38 ปี
นางทัศนีย์ โภคินเนาวพันธ์ อายุ 50 ปี
น.ส.สุกัญญา ผ่านคง อายุ 24 ปี
นายณัฐวุฒิ ใจตรงกล้า อายุ 25 ปี
น.ส.ญาดา โรจนซาลี อายุ 19 ปี
นายนันทวัฒน์ มุมอภัย อายุ 23 ปี
นางจิตร โพธิ์จันทร์ อายุ 61 ปี
นายอาทิตยา บุญหล้า อายุ 36 ปี
น.ส.ขวัญจิรา ศิริธรรมจักร อายุ 32 ปี
น.ส.มยุรี นาแพงสอน อายุ 20 ปี
นายย่วน หยูนุ้ย อายุ 64 ปี
น.ส.อรุณรัตน์ เกิดโมลี อายุ 23 ปี
พร้อมด้วยของกลาง สมุดบัญชีธนาคาร 162 บัญชี,โทรศัพท์มือถือ 61 เครื่อง ,รถยนต์ 2 คัน,อาวุธปืน 1 กระบอก รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆอาทิโฉนดที่ดิน อสังหาริมทรัพย์หลายรายการ
ทางด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทางเจ้าหน้าที่ US Secret Service ทำหนังสือขอความร่วมมือมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังมีผู้เสียหายเป็นชาวอเมริกันถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก โดยมีการส่งหนังสือให้เจ้าหน้าที่ทางการไทย 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อขอหลักฐานเอาไปออกหมายจับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจะให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จึงได้ส่งหลักฐานเป็นเส้นทางการเงิน และ การตรวจค้นเป้าหมายให้ จนกระทั่งมีการส่งหนังสือฉบับที่สองมาให้เนื่องจากพบว่าเป็นเครือข่ายใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องหลายราย และต้องการให้ดำเนินคดีในประเทศไทย อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของชาวอเมริกันพบเกี่ยวพันถึง 41 ราย ความเสียหายจากเงินหมุนเวียนในประเทศไทย 1,000 ล้านบาท ในนี้มีเหยื่อที่เป็นคนไทย 1 คน มูลค่าความเสียหาย 1.8 ล้านบาท
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนประทุษกรรมในครั้งนี้ จะคล้ายกับแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย คือการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และบอกเหยื่อว่ามีความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยคนร้ายชาวอินเดียที่ถูกจับได้จะมีการใช้ชื่อคนไทยในการเปิดบัญชีม้า และ ใช้สำหรับร่วมกันเปิดบริษัท โดยเงินจะผ่านเข้าทั้งในส่วนบุคคลธรรมดา และ ในนามบริษัท จากนั้นให้คนไทยกดเงินสดออกมาให้ผู้ต้องหาชาวอินเดียรวบรวมไว้ ก่อนที่จะมีเพื่อนชาวอินเดียมารับเงินอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตำรวจจะต้องสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการเพิ่มเติม
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลเหยื่อที่คนร้ายได้ไปนั้น มาจากการที่มีคนอเมริกัน ขายข้อมูลให้คนร้าย และ คนต่างชาติที่เข้าไปทำงานและขโมยข้อมูลออกมาขายให้แก็งค์ดังกล่าว ซึ่งทราบข้อมูลส่วนตัวนี้มีความละเอียดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คนร้ายกลุ่มนี้จะนำเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งส่งกลับไปประเทศของผู้ก่อเหตุเอง
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเปิดบัญชีม้า และประชาชนได้เดินทางไปที่ธนาคารเพื่อปิดบัญชี ทาง พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้กำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนที่หลงผิด ทั้งการเปิดบัญชีม้า และ ซิมโทรศัพท์ให้ไประงับ รวมถึงปิดบัญชี เพราะผิดตามข้อกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้ว
เบื้องต้นแจ้งข้อหา 'ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน.สมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน'