พรรคเพื่อไทย ชี้การแบ่งเขตเลือกตั้งในกรุงเทพ ขัดกฎหมาย ต้องคำนึงถึง มาตรา 29 พ.ร.ป.เลือกตั้ง 61 วอน กกต. คิดถึงความสะดวกในการเดินทางของประชาชนด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวการแบ่งเขตเลือกตั้ง
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 33 เขต เป็นที่จับจ้องของทุกพรรคการเมือง ดังนั้นพื้นที่การแบ่งเขตต้องคำนึงถึงกฎหมาย ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 มาตรา 29 ที่ต้องคำนึงถึงการยึดเขตปกครองเป็นหลัก ต้องยึดโยงในการเดินทางให้ความสะดวกกับประชาชนมากที่สุด รวมถึงต้องแบ่งเขต ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะต้องไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน
แบบที่ 1เป็นแบบที่เหมาะสม ทั้งนี้ครั้งที่แล้วเพื่อไทยได้ท้วงติง กกต.ไปแล้ว โดยยืนยันว่าแบบที่ 1 และ 2 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นเขตเลือกตั้งร่วมอำเภอต่างๆเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้คำนึงถึงประชากร ยกตัวอย่างกรณีเขตมีนบุรี เขตฝั่งธนบุรี ทำให้เกณฑ์ประชากรการเลือกตั้งมีความสับสนวุ่นวาย เขตเดียวแต่มีการแบ่งแขวง ส.ส. และประชาชนไม่ได้อะไร ซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับผู้อำนวยการเขต ข้าราชการ ที่จะต้องไปดูแลในพื้นที่การเลือกตั้งด้วย ซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับผู้อำนวยการเขต ข้าราชการ ที่จะต้องไปดูแลในพื้นที่การเลือกตั้งด้วย
“การจัดแบบนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้บัตรเสียเยอะที่สุด การแบ่งเขตแบบที่ 1-2 หากมีคนไปร้องเรียนแล้วประกาศผลการเลือกตั้งไม่ได้ การเลือกตั้งอาจจะกลายเป็นโมฆะ ถ้าเกิดเช่นนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะรับผิดชอบอย่างไร” นายวิชาญกล่าว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปตีตนไปก่อนไข้ แต่เป็นการให้ข้อสังเกตต่อ กกต. ที่จะออกกฎระเบียบหลังจากนี้ ตนยกตัวอย่างเขตคลองสามวามี 5 แขวง วันนี้ 2 แขวงถูกผลักไปที่เขตหนองจอก ทั้งนี้การคิดคำนวณหน่วยเลือกตั้ง และการนับคะแนนหน่วยเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องทำให้ชัดเจนว่าจะนับคะแนนที่ใด นอกจากนี้กรณีบัตรเสียจะเกิดปัญหาอย่างมาก จะเป็นการตัดสิทธิ์พี่น้องประชาชน พรรคเพื่อไทยพร้อมลงในสนาม แม้เราเคยโดนความไม่สะดวกในกติการการเลือกตั้งมาตลอด 15 ปี
ที่ผ่านมาการเลือกผู้แทนราษฎร ไม่มีเหตุผลกลใดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้ ฝากไปถึง กกต. หากประกาศเป็นเช่นนั้นจริง ขอให้ได้ประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน และเน้นย้ำข้าราชการ ตำรวจ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน
“พรรคเพื่อไทยพร้อม ไม่ว่าท่านจะมัดมือ มัดแขน ปิดหู ปิดตา ล่ามโซ่เอาไว้ เราจะไปยืนในที่สว่าง ให้กับพี่น้องประชาชนใน กทม.เลือกทั้ง 33 เขต” นายจิรายุกล่าว
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นความกังวลใจของผู้ที่ทำงานทางการเมืองส่งไปถึง กกต. กทม. ที่มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งของกรุงเทพ 4 แบบ โดย กกต. เลือกแบบที่ 1 จาก 6 แบบ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้แสดงความคิดเห็นและพรรคการเมืองอื่นได้ส่งความคิดเห็นไป กกต. ให้เลือกแบบที่เหมาะสม และเป็นธรรมมากที่สุด ล่าสุด กกต. ได้ออกแบบมาใหม่อีก 4 แบบ ถือเป็นกระบวนการที่อาจไม่ชอบมาพากล เป็นการแบ่งเขตแบบพิลึกพิลั่น หลักการแบ่งเขตควรจะเป็นไปตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 ตามมาตรา 29 ที่การแบ่งเขต จะต้องเป็นการรวมเขตที่เป็นเขตใหญ่ๆ เข้าด้วยกัน ยึดหลักการมีพื้นที่ติดต่อกัน
เพื่อที่จะให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วย ไม่ใช่การรวมแขวงเข้าด้วยกัน มิเช่นนั้น ส.ส. จะกลายเป็น ส.ส.แขวงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อน ความลำบาก ความสับสนให้กับประชาชนที่จะต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นอย่างมาก และขอตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นช่องทางที่ผู้ที่ไม่มีความโปร่งใส หรือตั้งใจทุจริตการเลือกตั้งจะเกิดช่องโหว่ในการกระทำการนั้นๆได้ อย่างล่าสุดที่มีข่าวบัตรประชาชนใบเดียว แต่มีหลายรายชื่อ ซึ่งน่าสงสัยว่สเหตุใดเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว
การแบ่งเขตของ กกต. เข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นหลักหรือไม่ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น กกต. ยังกลับหลังทันที ที่จะทำประโยชน์ให้คิดถึงส่วนรวมของประชาชนส่วนใหญ่ให้มากกว่าคิดถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง กกต.เป็นองค์กรอิสระที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจใดๆ วันนี้ศักดิ์ศรีของการกระทำของท่านจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พี่น้องประชาชนจะให้ความเคารพ และยอมรับ อยู่ที่ตัวท่านเอง การแบ่งเขตจะต้องเป็นไปโดยหลักของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว
“ขอให้ กกต. ได้คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด สำหรับแบบที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความเห็นและเป็นไปได้คือแบบที่ 3 แบบที่ 4 เรายังหวังว่า กกต.จะรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ หาก กกต.ยังไม่เห็นความสำคัญของประชาชน เราพร้อมที่จะลงการเลือกตั้งในกฎกติกาที่ กกต. กำหนด” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย