'เศรษฐา' ประเดิมลงพื้นที่คลองเตย ชี้ จะรับปัญหาเพื่อวางนโยบายเพื่อหาทางออก พร้อมประกาศขอเป็นศัตรูเหลื่อมล้ำ ลั่น จะลุยหาเสียงให้ได้มากที่สุด ไม่หวั่นถ้าใครแฉ จะพยายามแจงให้ดีที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพฯ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย และนายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ช่วย นายนวธันย์ ธวัชวงค์เดชากุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตคลองเตย พรรคเพื่อไทย หาเสียง โดยเริ่มจากการรับฟังปัญหาในพื้นที่ 70 ไร่จาก นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งเป็นมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา
โดยครูประทีป กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยถือเป็นพรรคแรกที่เข้ามารับฟังปัญหาของชาวคลองเตยอย่างจริงจัง ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมาก่อน ซึ่งเมื่อมีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือ ทำให้ต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการขนถ่ายสินค้าทำให้ชุมชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว สลัมคลองเตยจึงเติบโตขึ้นอย่างไร้ระบบ ไร้การพัฒนา มีความเหลื่อมล้ำสูงนี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ว่าที่นายกรัฐมนตรีในอนาคตได้เดินทางมารับฟังปัญหาของคนยากคนจนที่นี่ด้วยตัวเอง
โดย ตัวแทนชุมชนคลองเตยได้ผลัดกันลุกขึ้นสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ดังนี้
1.ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยจากการเวนคืนที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประชาชนในชุมชนขอที่ดินสักแปลงจากการท่าเรือซึ่งมีที่ดินกว่า 2,000 ไร่ ขอให้คนในชุมชนเอามาจัดการตัวเอง โดยขอให้ทางการท่าเรือเปิดเวทีทำความเข้าใจกับคนในชุมชน แทนการสำรวจได้หรือไม่ ทั้งนี้ คนในชุมชนยินดีพัฒนาที่ดินแห่งนี้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แต่ช่วยให้ประชาชนชาวคลองเตยมีที่อยู่อาศัย ให้มีทางเลือกที่ไปได้ เพราะคนในชุมชนเป็นเพียงคนหาเช้ากินค่ำเท่านั้น
2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ วันนี้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ไม่เพียงพอแล้วต่อครอบครัว รัฐบาลที่แล้วขายฝันว่าจะขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท แต่ก็ทำไม่ได้ หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะสามารถขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทได้จริงคนคลองเตยก็รู้สึกยินดี นอกจากนี้ คนคลองเตยต้องการการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และต้องการการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เช่น ทำตลาดน้ำ ทำถนนคนเดิน ส่วนหาบเร่แผงลอยก็ขอให้ขายได้อย่างเป็นระเบียบ
3.เรื่องปัญหาสุขภาพ คนคลองเตยถูกตัดสิทธิหลายอย่าง ล่าสุด ก็มีการยกเลิกการให้บริการสิทธิบัตรทอง 9 โรงพยาบาลรอบชุมชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเดินทางไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลไกลจากที่อยู่มาก ขอให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาในเรื่องนี้ และขอให้มีนโยบายออกมาดูเรื่องสิทธิประกันสังคมที่ไม่ครอบคลุม และกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้มีสิทธิประกันสังคมด้วย
4.เรื่องความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของคนคลองเตย โดยพื้นที่คลองเตยมีปัญหาเรื่องอัคคีภัยสูงมาก แต่ชุมชน และผู้ปฏิบัติงานอาสาสมัครยังขาดอุปกรณ์ช่วยเหลือ จนถึงงบประมาณในการรักษาพยาบาลเมื่อออกไปช่วยเหลือชาวบ้านแล้วประสบอุบัติเหตุ จึงฝากให้พรรคเพื่อไทยมีนโยบายในส่วนนี้
5.เรื่องการศึกษา เชื่อว่าการศึกษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีโครงการ 1 ชุมชน 1 ทุน แต่ในปัจจุบันไม่มีแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นวันนี้การศึกษาของคนในชุมชนถดถอย เด็กด้อยโอกาส และคนชายขอบไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษา ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทั่วถึง ได้เดินไปโรงเรียนได้อย่างมีความสุข และได้เรียนอย่างมีคุณภาพ เพราะเด็กในชุมชนไม่มีโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพทัดเทียมกับที่อื่น ฝากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอนาคต ทำให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาและมีอาชีพที่ดีทำในอนาคตด้วย
ด้านนายเศรษฐา กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งแรกได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น ทราบถึงความอัดอั้นตันใจและปัญหาพื้นฐานของชาวคลองเตย ต้องแก้ไขอย่างบูรณาการ อีกปัญหาคือเรื่องค่าแรง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทในปี 70 หากได้ฉันทามติจากประชาชนให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลตนมั่นใจว่าจะทำได้ ทุกอาชีพต้องได้ค่าแรงที่เหมาะสม และเชื่อว่าสูงกว่า 600 บาทก็สามารถทำได้ โดยนโยบายภาคใหญ่ของพรรคเราต้องการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่ำ 5%ในช่วงที่เราเป็นรัฐบาล และตนพร้อมทุ่มเทให้กับเรื่องการศึกษา เพราะเคยทำมาแล้วในพื้นที่ราชบุรี ในนามบริษัทแสนสิริ บริจาคเงิน 100 ล้านบาท เพราะนำเด็กนอกระบบการศึกษากลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง ปัญหาในชุมชนคลองเตยอะไรที่จะเลือกทำก่อน นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะเลือกทำก่อนเพราะทุกปัญหาคือเรื่องใหญ่ต้องทำไปพร้อมๆกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง หลังจากนี้จะลงพื้นที่ทุกเวทีกับพรรคเพื่อไทยเลยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า จะพยายามไปครบทุกเวทีทุกจังหวัด โดยจะไปรับฟังปัญหารวบรวมข้อมูลแล้วนำมาถกกันภายในพรรคเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยนโยบายจะคลอดมาเรื่อยๆ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง ในฐานะนักธุรกิจจะสื่อสารและขายความเป็นตัวเองกับประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของการขาย แต่เป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลและเข้าใจว่าชาวบ้าน ชาวนา ชาวสวน หรือคนที่อยู่ชายขอบ ต้องการอะไร ส่วนตัวจะไปขยายเรื่องนโยบาย ความเป็นตัวตนและแสดงความจริงใจให้ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ให้ประชาชน ส่วนระยะเวลาจะไปอยู่ในใจประชาชนได้หรือไม่นั้นตอบลำบาก แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราว่าทำได้ดีขนาดไหน แต่ตนและพรรคเพื่อไทยเต็มที่ เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาเราเจอปัญหาเยอะทำให้ประชาชนลำบาก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะเสนอนโยบาย ส่วนกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้กำลังใจสำหรับการลงพื้นที่ครั้งแรกนั้นก็ต้องขอบคุณถือเป็นกำลังใจให้กับตน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาระบุรู้จักกับนายเศรษฐาอย่างดี กังวลจะถูกขุดคุ้ยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรามีหน้าที่ต่างกันไป ตนมีหน้าที่ฐานะประธานที่ปรึกษาฯ แต่ที่ผ่านมาตนเป็นนักธุรกิจมาก่อน การเข้ามาสู่มิติใหม่นี้จะบอกว่าไม่กลัวอะไรเลยก็คงจะเป็นการขู่ แต่จะทำให้ดีที่สุด หากมีคนมาแฉจะพยายามชี้แจงให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเตรียมจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ โดยมีวาระการประชุมเพื่ออนุมัติกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของพรรคให้สอดคล้องกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้จะมีการยุบและตั้งสาขาพรรคใหม่เพื่อรองรับการทำไพรมารีโหวต รวมถึงวาระในการรับรองนโยบายต่างๆ ให้ครอบคลุมกับกรอบนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งพรรคได้ทยอยประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว
โดยไฮไลท์สำคัญจะเป็นการปรากฏตัวพร้อมกันของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมและหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยทั้งคู่เป็นบุคคลที่ถูกวางตัวให้เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย.