ป.ป.ช. พาตะลุยสนามกอล์ฟ 'เมาท์เท่น ครีก' ตรวจพื้นที่เขตที่ดินบางส่วน คดีออกเอกสารสิทธิมิชอบ ในประเด็นวัดแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ ในเขตป่าสงวน-ป่าไม้ถาวร-ส.ป.ก และให้เห็นว่าที่ดินส่วนใดบ้างที่เป็น ส.ป.ก. ส่วนใดที่เป็นเอกชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 นำโดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักไต่สวนฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.นครราชสีมา พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สนามกอล์ฟเมาท์เท่น ครีก (Mountain Creek) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ ประมาณ 2,304 ไร่เศษ แต่ว่าโฉนดที่ดินนั้นจะมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าไร่ ซึ่งกรณีนี้ มีนายประยุทธ มหากิจศิริ ผู้ก่อตั้ง เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน ในนามของบริษัทหนึ่ง โดยแนวคิดการซื้อที่ดินเพื่อจะทำเป็นสนามกอล์ฟนั้นสภาพของที่ดินในการจัดทำเป็นสนามกอล์ฟจะต้องมีการเป็นที่เดียวกันจึงสามารถทำเป็นสนามกอล์ฟได้ แต่ปรากฏว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งนั้นอยู่ในเขตป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร ดังนั้น ป.ป.ช.จึงได้มีการแบ่งการดำเนินคดี โดยตัวอย่างของการดำเนินคดีก็คือกรณีความผิดการรังวัดสอบเขต ที่มีการขอออกนอกโฉนดที่ดินจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพิ่มมากขึ้นโดยตลอดโดยจะขยายเนื้อที่รวมไปในเขตป่าไม้ถาวรและป่าสงวนรวมไปด้วยบางส่วน
ดังนั้น ป.ป.ช.จึงได้มีมติชี้มูลเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาตามมาตรา 151 157 ซึ่งเป็นกรณีการกล่าวหาการเรียกรับเงินรายการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ นส. 3 ก ของสนามกอล์ฟเมาเท่นครีก กอล์ฟ รีสอร์ทแอนด์เรสซิเดนซ์ โดยมีการนำที่ดินนอกหลักฐานที่เป็นที่ดินของรัฐประกอบไปด้วยที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเตียน ป่าเขาเขื่อนรั่น ป่าไม้ถาวรทำให้มีที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวน 189 ไร่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะรวมที่ดินเป็นแปลงเดียวกันก่อสร้างสนามกอล์ฟ ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมและมีการชี้ความผิดนายประยุทธ์ กับพวก รวมไปถึงบริษัทฯ ว่าเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กว่า 189 ไร่เศษ
การลงพื้นที่ดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบ ภายหลังการชี้มูล ให้เห็นว่าที่ดินส่วนใดบ้างที่เป็น ส.ป.ก. ส่วนใดที่เป็นของเอกชน และให้เห็นการดำเนินงานของ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ ปัจจุบันเอกชนมีการคืนพื้นที่ดังกล่าวให้แก่ ส.ป.ก. แล้ว หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก. ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้กลับมาเป็นของรัฐต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ ปัจจุบัน การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการขั้นต้น ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ดังนั้น ผู้กล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านเพิ่มเติม :