อาซิซ อับดุลลาห์ (Aziz Abdullah) ผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์ ถูกควบคุมตัวเป็นเวลากว่า 9 ปี เสียชีวิตในศูนย์กักกันคนต่างชาติที่กรุงเทพฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 สื่อต่างประเทศรายงานการเสียชีวิตของ นายอาซิซ อับดุลลาห์ (Aziz Abdullah) ผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์ ที่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลากว่า 9 ปี เสียชีวิตในศูนย์กักกันคนต่างชาติ (สถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง Immigration Detention Centre : IDC) ที่กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวนำบางส่วนของข่าวมาเรียบเรียงดังนี้
นายอาซิซ เป็นส่วนหนึ่งของผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์กว่า 350 คนที่หลบหนีจากซินเจียง หรือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ที่อยู่บริเวณทิศตะวันตกของประเทศจีน ในปี 2556 และถูกควบคุมตัวในประเทศไทย โดยนายอาซิซเดินทางมายังประเทศไทยพร้อมกับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ พี่ชาย และลูกอีก 7 คน ในช่วงปลายปี 2556
ทั้งนี้นักเคลื่อนไหวที่ติดต่อกับผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันคนเข้าเมืองกล่าวว่า เขา (นายอาซิซ) ป่วยหนักมานานกว่า 3 สัปดาห์ แต่ทางการไทยปฏิเสธที่จะส่งเขาไปโรงพยาบาลจนกระทั่งเขาอาการป่วยของเขาทรุดลง
“เขาไอและอาเจียนเป็นเลือด เขาไม่สามารถกินได้” โพลัต ซาอิม (Polat Sayim) ผู้อำนวยการศูนย์ผู้ลี้ภัยแห่งสภาอุยกูร์โลกในออสเตรเลียกล่าว
“หมอที่ห้องกักตัวคนต่างชาติของตม. ตรวจร่างกายเขาและบอกว่าไม่ใช่อาการป่วยจริง อาการของเขาปกติ”
ในที่สุดเขาก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหลังจากหมดแรงล้มลง แต่ปรากฎว่าเขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ใบมรณบัตรที่ออกโดยโรงพยาบาลระบุว่าปอดติดเชื้อเป็นสาเหตุการตาย
นักเคลื่อนไหวกล่าวว่ากลุ่มของเขาพยายามเข้าถึงมาเลเซียและตุรกี เมื่อพวกเขาถูกสกัดกั้นทางภาคใต้ของไทย
ในเวลานั้น ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นชาวตุรกีเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งตัวกลับประเทศจีน และตุรกีได้ให้สัญชาติแก่พวกเขาบางส่วน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2558 ทางการไทยอนุญาตให้ 173 คนในจำนวน 350 คนข้างต้น รวมทั้งภรรยาและลูกของนายอาซิซเดินทางไปยังตุรกี
อย่างไรก็ตาม จีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่าตุรกีแทรกแซงปัญหาระดับทวิภาคีและ 'สมรู้ร่วมคิดในกิจกรรมการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย'
โดยรัฐบาลไทยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตจีนเข้าเยี่ยมและประเมินผู้ขอลี้ภัย และในวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ไทยบังคับชาวอุยกูร์อย่างน้อย 109 คนซึ่งรวมถึงพี่ชายของนายอาซิซ ใส่กุญแจมือ คลุมศรีษะ ขึ้นเครื่องบินกลับประเทศจีน
ภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาวอุยกูร์ 109 คน บนเครื่องบิน
สื่อทางการจีนอธิบายว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของแก๊งค้ามนุษย์ โดยบางคนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของพวกเขาหลังจากมาถึงประเทศจีน
รัฐบาลไทยปกป้องการตัดสินใจของตน โดยกล่าวว่าจีนได้ร้องขอให้ส่งชาวอุยกูร์ทั้งหมดกลับประเทศ แต่ได้ส่งเพียงบางส่วนเท่านั้น
จนกระทั่งปี 2565 ที่ผ่านมา มีชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวเหลืออยู่ประมาณ 50 คน ในศูนย์กักกันต่าง ๆ ของประเทศไทย แต่หลังจากที่มีชาวอุยกูร์จำนวน 3 คน หนีจากศูนย์กักกันได้ ชาวอุยกูร์ที่เหลือจึงถูกย้ายมาที่ศูนย์กักกันในกรุงเทพซึ่งแออัดเป็นอย่างมาก
นักเคลื่อนไหวระบุว่า เขาพยายามช่วยเหลือชาวอุยกูร์ แต่พวกเขาถูกแยกออกจากกันโดยแทบไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอก อีกทั้งศูนย์กักกันในกรุงเทพมีสภาพย่ำแย่
“มันเลวร้ายยิ่งกว่าเรือนจำทั่ว ๆ ไปของไทย” ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งผลักดันให้มีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ให้ดีขึ้น กล่าว
"มันแออัดมาก ขาดแคลนอาหาร และอาหารที่จัดให้ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีอาหารฮาลาลสำหรับผู้ต้องขังชาวมุสลิม เครื่องดื่มก็ไม่สะอาดเช่นกัน พวกเขาต้องดื่มน้ำประปา แทบไม่มีการรักษาพยาบาลเลย หากพวกเขาป่วย พวกเขาจะได้รับเพียงยาแก้ปวดหรือยาที่คล้ายกันเท่านั้น”
ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) จากฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากนโยบายของไทยที่ตัดสินใจกักตัวชาวอุยกูร์โดยไม่คิดจะปล่อยตัวพวกเขา
"เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครคิดถึงผลกระทบด้านสุขภาพของการถูกขังอย่างไม่มีกำหนดในห้องที่คับแคบไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการดูแลสุขภาพและโภชนาการที่ไม่เพียงพอ"
ผู้สื่อข่าวพยายามโทรหาโฆษกของสถานกักกันคนต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ส่วนด้านโฆษกตำรวจไม่มีความเห็นใด ๆ
UNHCR กล่าวว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงผู้ถูกคุมขัง นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้ขออนุญาตเข้าเยี่ยมชาวอุยกูร์ในสถานกักกันคนต่างชาติเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
ในที่สุดก็กำหนดวันที่ในเดือนนี้และจะไปในปลายสัปดาห์นี้
รัฐบาลไทยให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับสหประชาชาติเพื่อปรับปรุงการคัดกรองและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยหลายหมื่นคนที่อยู่ในประเทศ แต่สิ่งนี้ยังไม่ได้นำมาซึ่งการปรับปรุงที่สำคัญใด ๆ ต่อเงื่อนไขภายในศูนย์กักกันคนต่างชาติที่กรุงเทพฯ
นักรณรงค์เชื่อว่าชาวอุยกูร์น่าจะได้รับโอกาสการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หากประเทศไทยยินดีปล่อยตัวพวกเขา แต่จากแหล่งข่าวที่มีฐานะดีของไทย ความกังวลของรัฐบาลเกี่ยวกับการทำให้จีนไม่พอใจนั้นมากเกินไป
ในที่สุดร่างของนายอาซิซ อับดุลลาห์ ก็ถูกปล่อยให้สมาชิกชุมชนไทยมุสลิม เขาถูกฝังในสุสานที่มัสยิดแห่งหนึ่งใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ใจกลางกรุงเทพฯ
เรียบเรียงจาก : https://www.bbc.com/news/world-asia-64701784