สภาผู้บริโภคเร่ง อย. ตรวจสอบ ‘เยลลี่กัญชา’ หลังพบเด็กกินแล้วแพ้รุนแรง ชี้กัญชาเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภค ต้องมีระบบควบคุมจริงจังเข้มงวด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีเด็กหญิงวัย 8 ขวบเกิดอาการแพ้รุนแรงหลังรับประทานเยลลี่ที่มีส่วนผสมของกัญชา ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆกันกับอีกหลาย ๆ กรณี หลังจากที่ในปีที่ผ่านมามีการปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติดและนำกัญชามาใส่อาหารนั้น (อ้างอิง : https://www.thaipbs.or.th/news/content/324309)
ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผู้ประกอบการมีการแสดงรายละเอียด และส่วนประกอบของกัญชาและมีการแสดงฉลากคำเตือนในผลิตภัณฑ์หรือไม่ รวมทั้งขอให้ อย. นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจหาสารทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol : THC) ที่เป็นส่วนผสมในกัญชาว่าเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ และดำเนินการตามกฎหมายถ้าหากผิดกฎหมาย รวมถึงต้องสื่อสารการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ข้างต้นต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการตระหนักในการรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
"สภาผู้บริโภคขอให้หน่วยงานกำกับดูแลรีบดำเนินการ เพราะกระทบผู้บริโภคและกลุ่มเด็ก อีกทั้งยังเห็นว่ากัญชาเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภค เมื่อปล่อยให้เสรีและถูกกฎหมาย ก็ต้องมีระบบและมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดและจริงจัง ก่อนจะมีผู้บริโภคที่เสียชีวิตจากการบริโภคอาหารผสมกัญชา" นางสาวมลฤดี กล่าว
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ ระบุอีกว่า ขอให้ อย. เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีมีผู้ที่ได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา และมีการเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ขอขึ้นทะเบียนการใช้กัญชาในอาหาร - เครื่องดื่ม เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ส่วนในร้านอาหารต้องมีการกำชับให้แสดงป้ายคำเตือนว่าร้านนี้มีการใช้กัญชาในผสมในอาหาร เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อได้
ทั้งนี้ หาก อย. ตรวจสอบและพบว่าอาหารผสมกัญชาดังกล่าวมีส่วนผสมของกัญชาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดตามกฎหมาย อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 26 (1) ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ที่มีสิ่งอันตรายเจือปนอยู่ ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 58 หากผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอและข้อเรียกร้องในการควบคุมการใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในอาหาร ทั้งอาหารปรุงสุกในร้านอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งขณะนี้แม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่าผู้ใดจะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้กัญชาในอาหารจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้ใดประกอบกิจการร้านอาหารและต้องใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบ ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านลบจากกัญชาเสรีเป็นจำนวนมาก