พ.ร.บ.ระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว กำหนดระยะเวลาดำเนินงานทุกขั้นตอนให้ชัดเจน ประชาชนได้รับความยุติธรรมไม่ล่าช้า สามารถตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว 23 ม.ค. 2566 ให้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สามารถตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้
พระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับ 1 ใน 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้แนวทางไว้
โดยการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเพื่อกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน 1. มีกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอน และ 2. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมสร้างระบบการตรวจสอบหรือแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนตรวจสอบว่าเรื่องที่ใช้บริการหรือเกี่ยวข้องดำเนินงานไปถึงขั้นตอนใด (Tracking / Notification System)
นอกจากนี้ การตราพระราชบัญญัติดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยากซับซ้อน และเป็นกลไกให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้โดยสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งยังมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งจะเป็นการลดภาระ และอุปสรรคต่อประชาชน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดระบบติดตาม ตรวจสอบ และแจ้งความคืบหน้าเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ ซึ่งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ) องค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
“รัฐบาลยึดมั่นให้เกิดสังคมที่สงบสุข เป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเดินหน้าผลักดันกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 เป็น 1 ในกฎหมาย 5 ฉบับที่รัฐบาลผลักดันจนเป็นผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมโดยไม่ล่าช้า สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยกระดับมาตรฐานกฎหมายไทยตามมาตรฐานสากล” นายอนุชาฯ ระบุ