ป.ป.ช.หารือ อสส. ถกบูรณาการ ใช้ กม.ป้องกันทุจริต ปี 61 หาแนวทางแจ้ง อสส. ปมคดี อสส.ไม่อุทธรณ์-ฎีกา หาแนวทางขอศาลสั่งจำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 12 มกราคม 2566 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดประชุมหารือข้อราชการ ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด ณ ห้องนนทบุรี 1 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ก่อนการประชุมหารือข้อราชการฯ ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต้อนรับ นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด พร้อมคณะอัยการสูงสุด โดยการประชุมฯ มีกรรมการ ป.ป.ช. และคณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
สำหรับการประชุมหารือข้อราชการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อหารือข้อราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่มีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติบางประการ ได้กำหนดไว้
2) เพื่อวางกรอบแนวทาง แก้ไขปัญหาและข้อขัดข้อง ตลอดจนบูรณาการการบริหารราชการร่วมกัน เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด
โดยมีประเด็นข้อหารือ คือ 1) แนวทางและซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนกระบวนการดำเนินคดีทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม
2) แนวทางการดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาตามมาตรา 77 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
3) แนวทางการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
4) แนวทางคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งไปยังอัยการสูงสุดตามที่อัยการสูงสุดหารือไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ตามมาตรา 79 และมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และ
5) แนวทางการขอให้ศาลสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
จากการประชุมหารือข้อราชการดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้นำปัญหาและข้อขัดข้องจากการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยได้ให้คณะทำงานผู้ประสานงานของทั้งสองฝ่าย นำข้อหารือที่ได้จากที่ประชุมในครั้งนี้ ไปกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันต่อไป