'ตรีนุช' วอน ส.ส.-ส.ว.ทบทวน 4 ประเด็น 'โฮมสกูล-จัดตั้งนิติบุคคล-สรรหาผู้บริหาร-เงินวิทยฐานะ' ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานา เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า วันที่ 10-11 มกราคมนี้ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จะเข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐบาล เห็นว่ายังมีบางประเด็นอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาในประเด็น 4 ประเด็น ดังนี้
-
ประเด็นที่ 1 การจัดการศึกษาโดยผู้ปกครอง (Home School) ในมาตรา 13 ควรให้ ศธ.ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
-
ประเด็นที่ 2 ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ในมาตรา 20 ควรให้สถานศึกษาเฉพาะสังกัด ศธ.เป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของรัฐในแต่ละสังกัด
-
ประเด็นที่ 3 การสรรหาและคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ในมาตรา 40 นั้น ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากเคยเป็นครูและรองผู้บริหารแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องบริหารการศึกษา และให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดแนวทางการสรรหาและพัฒนาผู้บริหาร เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพและไม่ทำให้เกิดภาระแก่คณะกรรมการสถานศึกษาเกินสมควร
-
ประเด็นที่ 4 ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะ ควรกำหนดให้ชัดเจนในมาตรา 41 เพื่อมีความชัดเจนว่าบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เคยได้รับเงินวิทยฐานะอยู่แล้วในปัจจุบันยังคงได้เงินวิทยาฐานะเช่นเดิม
“ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความเห็นและแจ้งให้มีการทบทวนประเด็นต่าง ๆ ที่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว ทั้งนี้ ศธ.และรัฐบาล ก็อยากเห็นกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเรียนรู้และการปฏิรูปครู สามารถเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาไปในทางที่ดีขึ้นได้” น.ส.ตรีนุชกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโครงสร้างการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการระดับภูมิภาค นั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาให้มีการคงอยู่ตามหลักการเดิมที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลเสนอไว้ พร้อมทั้งยืนยันว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะไม่กระทบต่อการทำงานในระดับภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแน่นอน