รมว.ยุติธรรมเป็นประธานลงนาม MOU ระหว่างสนง.ศาลยุติธรรม-อสส.-ตร.-มท.-สธ.-ยธ. ใช้พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ยกระดับกระบวนการยุติธรรม สร้างความปลอดภัยให้ผู้หญิงและสังคม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไท กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ที่อาคารกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นพยาน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า การลงนามร่วมกันทั้ง 6 หน่วยงาน เป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานที่มีบทบาททั้งในการพิจารณาพิพากษาคดี การป้องกันปราบปรามและเฝ้าระวัง ตลอดจนการแก้ไขฟื้นฟู ได้ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 หรือกฎหมาย JSOC (Justice Safety Observation Ad hoc Center)
ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ม.ค. 2566 ทั้งในระดับนโยบาย จนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้กระทำความผิดลักษณะพิเศษดังกล่าวในระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบายและแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง อันก่อให้เกิดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายนี้จะใช้กับผู้ที่กระทำความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ กลุ่มที่ทำความผิดเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย และกลุ่มที่คุกคามเสรีภาพหรือการเรียกค่าไถ่
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายทั่วไปจะต้องใช้เวลานาน แต่กฎหมาย JSOC ใช้เวลาเพียง 1 ปี 8 เดือน โดยกรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะดูแลมาตรการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพันโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพันโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ภายใต้การพิพากษาจากสำนักงานศาลยุติธรรม จะได้รับข้อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยหลักทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างคุมขังในเรือนจำหรือภายหลังพันโทษ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการรักษาอาการทางกายและการเจ็บป่วยทางจิตและอารมณ์ โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์จากกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต ในขณะเดียวกัน การป้องกัน ปราบปราม และเฝ้าระวัง การคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือแม้แต่การคุมขังฉุกเฉินย่อมต้องการกองกำลังจากหน่วยงานโดยตรงอย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม
"ขอขอบคุณที่มีการร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนกฎหมายที่ใช้สร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศ ได้เห็นว่ามีการร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมไปจนถึงปลายน้ำกระบวนการยุติธรรม ร่วมช่วยกันบังคับใช้กฎหมายสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น" นายสมศักดิ์กล่าว