ครม.ผ่านร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ บูรณาการทุกภาคส่วน สังคมต้องไม่เพิกเฉย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ว่า ครม.เห็นชอบเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป แผนปฏิบัติการดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เครือข่ายการทำงานสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 ปรับความรู้และทัศนคติของสังคม มี 3 เป้าหมาย คือ
1. ปรับระบบความคิดที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ และลดมายาคติของสังคม เช่น อบรมถ่ายทอดความรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กลไกการป้องกัน และสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ปรับเนื้อหาหลักสูตรโปรแกรม การสอนเพศวิถีให้เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับผู้เรียนและประชาชนทั่วไป
2. สร้างกลไกการป้องกันที่มีคุณภาพ และเฝ้าระวังความรุนแรงทางเพศ การข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ
3. สร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เช่น กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ และจัดให้มีช่องทางการร้องทุกข์ แจ้งข้อมูลพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย/พื้นที่เสี่ยง
กลยุทธ์ที่ 2 ปรับปรุงระบบงานเพื่อสร้างความเป็นธรรม มี 2 เป้าหมาย คือ
1. ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ เข้าถึงบริการที่เป็นมิตรและเป็นธรรม เช่น พัฒนาระบบการให้บริการบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยา
2. ปรับพฤติกรรมผู้กระทำความผิดและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เช่น จัดทำฐานข้อมูลบันทึกประวัติผู้กระทำความผิด เพิ่มมาตรการลงโทษในคดีเกี่ยวกับเพศ โดยใช้ยาเพื่อปรับฮอร์โมน
กลยุทธ์ที่ 3 ปรับมาตรการทางวินัย กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายมี 3 เป้าหมาย คือ
1. ปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
2. ปรับกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้เสียหายให้มีประสิทธิภาพ เช่น ปรับปรุงระบบการสอบสวน จัดทำคู่มือมาตรฐานและแนวทางที่เหมาะสมในการนำเสนอข่าว
3. มีมาตรการให้สามารถลงโทษทางวินัยร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่วงละเมิดทางเพศ เช่น สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัย จัดทำแนวทางการกำหนดโทษทางวินัยร้ายแรง
"ผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิงพิการ ปี 2564 พบว่า ผู้หญิงถูกล่วงละเมิด ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 ราย จึงเป็นเรื่องที่สังคมทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน" น.ส.รัชดา กล่าว