กสม.ไทยรับมอบธงเป็นประธานกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2566 เตรียมผลักดันเรื่องการต่อต้านการทรมานในระดับภูมิภาค
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 – 29 พ.ย. 2565 ตนพร้อมด้วยนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum) หรือ SEANF ครั้งที่ 19 ณ เมืองซัมโบอังกา (เกาะมินดาเนา) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมี กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) ในฐานะประธาน SEANF ในปี 2565 ทำหน้าที่ประธานและเจ้าภาพ จัดการประชุม
การประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 19 เป็นการประชุมตามระเบียบวาระระหว่างคณะผู้แทนสมาชิก SEANF จำนวน 6 สถาบัน ได้แก่ กสม. อินโดนีเซีย (Komnas HAM) กสม. มาเลเซีย (SUHAKAM) กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) กสม. เมียนมา (MNHRC) ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ) และ กสม. ไทย (NHRCT) โดยในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการป้องกันการไร้สัญชาติและการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไร้สัญชาติและบุคคลที่เสี่ยงต่อการไร้สัญชาติ: มุมมองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพื่อหารือถึงการร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในรัฐซาบาห์ มาเลเซีย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยคณะผู้เข้าร่วมการประชุมได้ลงพื้นที่ ณ ศูนย์คัดกรองผู้พลัดถิ่น กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานคัดกรองผู้ถูกส่งกลับจากรัฐซาบาห์ มาเลเซีย ด้วย
“การประชุมครั้งนี้ กสม. ไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าของประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยในปี 2566 ที่จะถึงนี้ กสม. ไทย จะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวร่วมกับสมาชิก SEANF โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันการทรมานของแต่ละสถาบัน เพื่อผลักดันให้ประเด็นการต่อต้านการทรมานและการบังคับให้สูญหายเกิดผลเป็นรูปธรรมในภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป” ผศ.สุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการประชุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้แทน กสม. ไทย ได้รับมอบธงสัญลักษณ์ SEANF จากนาย Richard Palpal-Latoc ประธาน กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) เพื่อรับมอบตำแหน่งประธาน SEANF ประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้ กสม. ไทยมีหน้าที่ในการบริหารจัดการการประชุมหลักของ SEANF ในปีหน้า และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาชิก SEANF และองค์กรเครือข่ายภายนอก อันถือเป็นโอกาสสำคัญที่ กสม. ไทย จะใช้เวทีนี้ในการผลักดันหรือขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคโดยผ่านกรอบความร่วมมือ SEANF เพื่อสนับสนุนการตอบสนองร่วมกันต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนการจัดให้มีเวทีในการสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายทั้งในระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และในระดับสากล