กสม. แนะรัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา คุ้มครองสิทธิสุขภาพและสิทธิเด็ก หวั่นผลกระทบจากการบริโภคกัญชาที่ไม่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ และต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และไม่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการใช้สารเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) เกินร้อยละ 0.2 โดยนับแต่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา มีรายงานการใช้กัญชานอกเหนือจากการใช้ทางการแพทย์ และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาออกมาเป็นระยะ ทำให้หลายภาคส่วนมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากการใช้กัญชา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ และบุคคลที่มีโรคประจำตัวบางโรค
เนื่องจากสาร THC ในกัญชามีผลต่อสมองเด็กและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว รวมถึงผลกระทบในด้านอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหลังการใช้กัญชาซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้กัญชา กัญชง ที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงการบริโภคกัญชาได้อย่างแพร่หลาย และมีรายงานการใช้กัญชาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็ก จึงได้จัดการประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็น เรื่องสิทธิด้านสุขภาพกับสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นการใช้ประโยชน์จากกัญชา การใช้กัญชาในทางการแพทย์ ผลกระทบด้านสุขภาพ มาตรการควบคุมการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้กัญชา บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว กสม. เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 และมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ เช่น การรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง และความปลอดภัยในการบริโภค นอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กยังกำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองเด็กจากการใช้โดยผิดกฎหมายซึ่งยาเสพติด รวมทั้งสารที่มีพิษต่อจิตประสาทอื่น ๆ ด้วย สำหรับกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเยาวชน และสตรีตั้งครรภ์ จากการใช้กัญชา นั้น กสม. เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดมาตรการและออกกฎหมายลำดับรองเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการใช้กัญชาหลายฉบับ แต่มาตรการส่วนใหญ่ไม่มีกลไกบังคับใช้ที่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสามารถป้องกันผลกระทบจากการใช้หรือการบริโภคกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้อย่างมีประสิทธิผลนอกจากนี้จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา ปรากฏรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาของประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจและการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอต่อการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยด้วย
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้กัญชาที่ไม่ปลอดภัย กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมทั้งข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายกรณีดังกล่าวต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
1.ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสุขภาพตามประกาศต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิผล เช่น การปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชน สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร และบุคคลที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพ การควบคุมการผลิตและจำหน่ายหรือใช้กัญชา กัญชงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณกัญชา กัญชงที่ใช้ในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์และฉลากต้องไม่มีลักษณะจูงใจเด็กและเยาวชนในการบริโภค ผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลส่วนผสมของกัญชา กัญชง โดยละเอียด เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ กำหนดมาตรการส่งเสริมและควบคุมคุณภาพการปลูกกัญชา กัญชงเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา กัญชงและผลกระทบในด้านสุขภาพทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษาและชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์การใช้กัญชา กัญชงเป็นระยะ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมการปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชา
2.ข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมาย
รัฐสภาควรพิจารณาให้มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่รวบรวมมาตรการเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงให้อยู่ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้กัญชา กัญชงและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายเข้าถึงมาตรการที่กำหนดได้โดยง่าย และควรพิจารณาให้มีมาตรการในการคุ้มครองด้านสุขภาพและควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในกฎหมาย เช่น การควบคุมผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงหรือสารสกัดที่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ให้มีสาร THC ในปริมาณที่เหมาะสม การควบคุมบรรจุภัณฑ์และฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีการให้ข้อมูลและคำเตือนด้านสุขภาพ การกำหนดห้ามโฆษณาเพื่อขาย/วางจำหน่ายการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบกัญชาและบทกำหนดโทษ
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคมปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา กัญชง เช่น กำหนดระดับของการสูบหรือบริโภคกัญชาที่ห้ามขับขี่ยานพาหนะและการห้ามทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในที่สูง หรือทำงานในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การกำหนดให้มีการตรวจจับระดับการสูบ/บริโภคกัญชาขณะขับขี่ยานพาหนะเช่นเดียวกับการตรวจจับแอลกอฮอล์ รวมทั้งพัฒนากฎหมายห้ามการขับขี่ยานพาหนะ และการทำงานกับเครื่องจักรในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะที่บริโภคกัญชา กัญชงไว้เป็นการเฉพาะ