'โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ' ประธานศาลฎีกา มอบนโยบายแก่ผู้บริหาร-สำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมพัฒนาโครงการสร้างมาตรฐาน 'รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน' เน้นความต้องการประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 ที่ห้องประชุมใหญ่อาคารศาลฎีกา นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารศาลยุติธรรมครั้งแรก ระหว่างผู้บริหารศาลยุติธรรมทั่วประเทศ และสำนักงานศาลยุติธรรม ภายหลังประธานศาลฎีกาเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 โดยกำหนดการประชุมเรื่อง 'นโยบายการบริหารศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกา' เพื่อให้ผู้บริหารศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมรับทราบถึงนโยบายประธานศาลฎีกา ภายใต้แนวคิด 'รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน' และแผนปฏิบัติการของสำนักงานศาลยุติธรรมตามนโยบายประธานศาลฎีกา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อร่วมกันนำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้สนับสนุนให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี การบริหารงานธุรการ พัฒนายิ่งขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และให้การปฏิบัติงานของศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีเอกภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดีและสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ สำหรับแผนปฏิบัติการของสำนักงานศาลยุติธรรมตามนโยบายประธานศาลฎีกาฯ ในข้อ 'รักศาล' ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรในองค์กรศาลยุติธรรมมีความรักความผูกพันในองค์กรและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการให้บริการประชาชนนั้น จะดำเนินการรวม 11 โครงการ ประกอบด้วย การประกาศเจตจำนง ปลูกฝังค่านิยมองค์กร แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นบุคลากรของสำนักงานศาลยุติธรรม, โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งเสริมสวัสดิการบุคลากรศาลยุติธรรม, โครงการสำรวจ ศึกษา และพัฒนาโครงสร้างและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานธุรการศาลเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคศาลดิจิทัล, โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม, โครงการพัฒนาระบบรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย, โครงการสัมมนาวิชาการสัญจรแก่บุคลากรในองค์กรศาลยุติธรรม, โครงการรักษ์ศาลสีขาว ปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ค่านิยมของบุคลากรต่อองค์กร, โครงการส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างองค์กร โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีส่วนร่วม, โครงการประชุมร่วมระหว่างผู้พิพากษาสมทบและผู้ประนีประนอมในศาลชำนัญพิเศษ, โครงการเข็มเชิดชูเกียรติผู้ประนีประนอมหรือบุคคลอื่นที่เสียสละและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และโครงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยใช้พลังงานทางเลือกทดแทน
ในข้อ 'ร่วมใจ' ที่มุ่งเน้นให้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีจิตใจบริการ พร้อมอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม อย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกัน มี 5 โครงการที่จะดำเนินการ คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาคดีในศาลสูง เช่น การเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ทำหน้าที่ยกร่างคำพิพากษา, โครงการบริหารจัดการคดีอย่างมีประสิทธิผล เช่น การจัดตั้งหน่วยรับผิดชอบส่งเสริมพัฒนางานศาลดิจิทัลและนวัตกรรม, การกำหนดแผนการดำเนินงานและแนวทางบริหารจัดการคดี, โครงการพัฒนามาตรฐานขั้นตอนและกรอบระยะเวลาการปฏิบัติงานศาลยุติธรรม, โครงการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลคดีบุคคลล้มละลายของศาลล้มละลายกลางกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วประเทศ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานบังคับคดี และการบังคับโทษปรับในคดียาเสพติดด้วยการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย เช่น การพัฒนาระบบสำนวนบังคับคดีผู้ประกันในคดีอาญาเพื่อรองรับโทษปรับในคดียาเสพติด
ในข้อ 'รับใช้ประชาชน' ที่มุ่งเน้นยกระดับการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมใหม่มาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของศาลยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาค และเท่าเทียมนั้น พร้อมดำเนินการใน 7 โครงการ ดังนี้ โครงการกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนหรือคู่ความมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โดยถือความต้องการของประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง, โครงการลดความยุ่งยากในการติดต่อราชการ, โครงการประชาชนกับการเข้าถึงความคืบหน้าของคดี, โครงการพัฒนาระบบการพิจารณาคดีบางประเภทให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านกลไกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยื่นคำขอจัดการมรดกผ่านระบบ e-Filing, โครงการกระจายการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีแรงงานให้ทั่วถึง เช่น การจัดตั้งศาลแรงงาน (สาขา) หรือศาลแรงงานจังหวัด, โครงการยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญของล่ามศาลและการจัดหาล่ามศาลให้ครอบคลุมทุกประเภทคดี และโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ
การนำนโยบายประธานศาลฎีกา และแผนปฏิบัติการของสำนักงานศาลยุติธรรมตามนโยบายประธานศาลฎีกา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปสู่การปฏิบัติได้ด้วยความเป็นเอกภาพบนบรรทัดฐานเดียวกันของศาลยุติธรรมทั่วประเทศและสำนักงานศาลยุติธรรมนี้ จะส่งผลให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีและสังคม ได้รับการอำนวยความยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม เสมอภาค ทั่วถึง และเสียค่าใช้จ่ายน้อย สอดคล้องกับหลักการ 'รับใช้ประชาชน' ตามนโยบายประธานศาลฎีกาข้อที่ 3 ที่มุ่งเน้นให้บุคลากรในองค์กรศาลยุติธรรมร่วมกันให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ เต็มกำลังความสามารถโดยถือความต้องการของประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง