กสม.ประสานสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง กรณีผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยประสบปัญหาความล่าช้าในการขอคืนรายการทะเบียนราษฎร แนะกรมการปกครองเร่งสนับสนุนอัตรากำลังการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยรายหนึ่ง ระบุว่า ตนและน้องสาวเป็นผู้มีรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อปี 2557 ได้ทราบว่ารายชื่อของตนและน้องสาวถูกสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง (ผู้ถูกร้อง) จำหน่ายออกจากรายการทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 จึงติดต่อไปยังสำนักทะเบียนฯ เพื่อขอคืนรายการทะเบียนราษฎร ซึ่งสำนักทะเบียนฯ ได้ให้ผู้ร้องและน้องสาวยื่นคำขอคืนรายการทะเบียนราษฎร โดยได้รับลำดับที่ 405 และ 406 แต่เมื่อผู้ร้องติดตามทวงถามผลการดำเนินการดังกล่าว กลับได้รับแจ้งว่ายังไม่ถึงลำดับของผู้ร้องและน้องสาว ซึ่งเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ล่าช้ามาถึง 8 ปี จึงขอความช่วยเหลือ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิและสถานะบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แต่เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวสามารถดำเนินการอย่างรวดเร็วได้ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 จึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง ผู้ถูกร้อง เพื่อขอทราบผลการดำเนินงาน
ต่อมา ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 สำนักงาน กสม. ได้รับแจ้งผลการดำเนินงานและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องจากสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง สรุปได้ว่า สำนักทะเบียนฯ อยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงด้านคุณสมบัติของผู้ขอคืนรายการ ตลอดจนต้องเรียกพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมาสอบถามอย่างครบถ้วนและรอบคอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2554 มีผู้ถูกจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผู้ร้องและน้องสาวได้มาลงทะเบียนยื่นขอคืนรายการทะเบียนราษฎรไว้แล้ว แต่เนื่องจากจังหวัดระนองมีกลุ่มเป้าหมายหรือผู้แจ้งความประสงค์ขอคืนรายการทะเบียนราษฎรจำนวนมาก ประกอบกับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอกับปริมาณคำขอ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ โดยปัจจุบันสามารถดำเนินการถึงลำดับที่ 200 โดยประมาณ ซึ่งสำนักทะเบียนฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงกรณีขอให้เร่งรัดการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรดังกล่าวให้ผู้ร้องทราบแล้ว
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและการดำเนินงานข้างต้นแล้วเห็นว่า สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีขอให้เร่งรัดการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้ร้องและน้องสาวของผู้ร้อง อันเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ร้องตามสมควรแก่กรณีแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อติดขัดที่ทำให้ล่าช้าและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 16 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและสถานะบุคคลว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงเห็นควรแจ้งไปยังสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรให้ผู้ร้องทราบ พร้อมทั้งแจ้งไปยังกรมการปกครองเพื่อเร่งรัดและสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองต่อไปด้วย
“เมื่อเดือนตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบคำมั่นของไทยสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งถ้อยแถลงส่วนหนึ่งระบุถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าถึงบริการของสำนักทะเบียนได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมืองเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการพิจารณาสถานะ ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค กสม. จึงขอเน้นย้ำคำมั่นดังกล่าวที่สมควรจะต้องผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการสนับสนุนและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกกลุ่มได้มีสถานะบุคคลตามกฎหมายอันเป็นการประกันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและรัฐสวัสดิการที่พลเมืองทุกคนสมควรได้รับ” นางปรีดา กล่าว