ครม.เห็นชอบ ‘ร่างปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ’ ย้ำรัฐผู้ส่ง-รับแรงงาน ต้องรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นธรรมกับแรงงานเหล่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 ตุลาคม 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้ความคุ้มครองด้านประกันสังคมกับแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้ายไปทำงานในภูมิภาคอาเซียน
โดยร่างปฏิญญาดังกล่าว เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ซึ่งจะเป็นการคงสิทธิและคุ้มครองแรงงานไทยในประเทศสมาชิกอาเซียนและคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียนในไทยด้วยโดยเฉพาะด้านสิทธิในประกันสังคมตามที่เน้นย้ำไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ความคุ้มครองด้านประกันสังคมให้แรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้ายไปทำงานในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนได้รับโอกาสในการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่และการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยที่รัฐผู้รับและรัฐผู้ส่งแรงงานข้ามชาติของอาเซียนจะรับผิดชอบต่อการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัวตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายของประเทศผู้ส่งและผู้รับ ซึ่งเป็นไปตามมติของอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ฉันทามติอาเซียน)
“การดำเนินการตามร่างปฏิญญาอาเซียนฯ นี้ จะทำให้ประชาชนและแรงงานข้ามชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมตลอดจนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ซึ่งปฏิญญานี้ จะมีผลให้รัฐผู้รับแรงงานข้ามชาติจะจัดให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ค่าตอบแทนและการปฏิบัติที่เป็นธรรมตามกฎหมายของประเทศผู้รับ เช่น ค่าตอบแทน ความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองสุขภาพ ในขณะที่รัฐผู้ส่งแรงงานข้ามชาติจะรับรองสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับประเทศต้นทางในการเข้าถึงบริการเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศต้นทาง นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนานโยบายการย้ายถิ่นฐานที่เหมาะสมและครอบคลุมสำหรับแรงงานข้ามชาติภายในเขตอำนาจศาลของตน เช่น กำหนดการเข้า - ออก จากเขตแดน และแนวปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่แรงงานข้ามชาติต้องปฏิบัติตามรวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนกลางด้านแรงงาน อีกด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว