สบส.เตือนไลฟ์สดรีวิวรักษาพยาบาล เสี่ยงผิดกฎหมายทั้งผู้รับบริการ-รพ. ย้ำต้องไม่ละเมิดคนป่วย ห้ามโฆษณาไม่รับอนุญาต-โอ้อวดเกินจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันสื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทสำคัญในดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ด้วยเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงง่ายและสามารถส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วฉับไว ทำให้การนำเสนอสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ผ่านแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือที่เรารู้จักกันว่าการ 'ไลฟ์สด' เป็นกระแสที่กำลังมาแรง ซึ่งหากใช้ในเชิงสร้างสรรค์แล้วย่อมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือประโยชน์ส่วนบุคคลที่ต้องการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามหรือยอดไลค์ ก็อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคมได้
โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยแล้ว ยิ่งต้องควบคุม ดูแล มิปล่อยให้บุคลากร หรือผู้รับบริการทำการไลฟ์สดระหว่างการรักษาพยาบาล หรือกระทำการใดก็ตามในลักษณะการโฆษณาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้า หรือสร้างความเข้าใจผิดต่อบริการของสถานพยาบาลโดยเด็ดขาด
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า การไลฟ์สดรีวิว (Review) ถึงบริการของสถานพยาบาลนั้น หลายคนอาจคิดว่าเป็นการให้ความรู้หรือข้อแนะนำบริการมิได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ พบว่าการไลฟ์สดของสถานพยาบาลที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะกระทำโดยบุคลากรของสถานพยาบาลหรือผู้รับบริการบางรายก็มีการใช้คำต้องห้ามของการโฆษณา อาทิ จบในที่เดียว รับรองผลลัพธ์ ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ ในระหว่างการไลฟ์สด ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานโฆษณาสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโฆษณาในลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบแพทย์ หรือผู้รับบริการกระทำการไลฟ์สดระหว่างรับบริการ หรือไลฟ์สดรีวิวบริการในพื้นที่สถานพยาบาล ต้องมีการห้ามปรามหรือทักท้วงให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากปล่อยปละละเลยมิห้ามปรามแล้วสถานพยาบาลเองก็จะเข้าข่ายความผิดในฐานยินยอมให้บุคคลอื่นโฆษณาสถานพยาบาลแทนโดยมิได้รับอนุญาต อีกทั้งแพทย์ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ไลฟ์สดเองก็อาจจะมีความผิดในฐานละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วย และผิดจรรยาบรรณทางการแพทย์อีกด้วย
ทั้งนี้ หากพบเห็นเบาะแสการโฆษณาของสถานพยาบาลใดที่มีลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือมีเนื้อหาล่อแหลมสื่อไปในทางลามกอนาจาร ผิดศีลธรรมในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ