กสม.ยินดี สภา ผ่านร่างกม.ซ้อมทรมาน เล็งขับเคลื่อนประเด็น ‘กระบวนการยุติธรรมทางอาญา/สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม/สถานะบุคคล/สถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง แลความหลากหลายทางเพศ’ ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน 1-2 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 สิงหาคม 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ที่วุฒิสภาแก้ไขและส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยมีผลการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 287 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทุกท่านที่เห็นความสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งขอบคุณและยินดีกับภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านออกมาบังคับใช้
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ถือเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน อันสอดคล้องตามหลักการอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี 2550 และมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
หลังจากนี้ กสม. จะยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการนำกฎหมายไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติ กสม.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายติดตามการบังคับใช้กฎหมายนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต่อไป
ขับเคลื่อน 5 ประเด็น งานสมัชชาสิทธิมนุษยชน
ด้านนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีกำหนดจัดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน : เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม.” ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและการกำหนดนโยบายร่วมกันเพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้ จะมีการขับเคลื่อน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ได้แก่ 1) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม 3) สถานะบุคคล 4) สถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง และ 5) ความหลากหลายทางเพศ
ก่อนหน้านี้ กสม. ได้ระดมความเห็นและนำเสนอสภาพปัญหาใน 2 ประเด็นย่อยได้แก่ สถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง และความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในเบื้องต้นยังมีความท้าทายในแง่การเข้าถึงสวัสดิการและการเยียวยาโดยรัฐภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่น่าห่วงใย เช่น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ส่วนประเด็นความหลากหลายทางเพศ ก็ยังมีข้อท้าทายในเรื่องการรับรองสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศตามกฎหมาย
นอกจากสองประเด็นดังกล่าวแล้ว กสม. ยังได้รวบรวมข้อท้าทายเบื้องต้นร่วมกับภาคีเครือข่าย
ในประเด็นสำคัญอีก 3 ประเด็น ได้แก่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสถานะบุคคล ซึ่งมีข้อมูลโดยสรุปดังนี้
ปี 64-65 ร้องเรียนซ้อมทรมาน 115 เรื่อง
ประเด็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีการติดตามสถานการณ์สำคัญ ได้แก่ (1) การป้องกันและปราบปรามการทรมาน จากสถิติเรื่องร้องเรียนระหว่างปี 2554 – 2565 พบว่ามีการร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายจากการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว จำนวน 115 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่มายาวนานและไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลาย แม้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) แล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะที่ว่าด้วยเรื่องการทรมานอยู่ในระบบกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวานนี้ (24 สิงหาคม 2565) สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ตามที่วุฒิสภาส่งร่างแก้ไขกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ว ซึ่งกสม. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เท่ากับว่ากฎหมายดังกล่าวจะได้ออกมาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนในเร็ววัน
ประวัติอาชญากร ละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพ
(2) การบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร พบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพในการประกอบอาชีพ กรณีหน่วยงานปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานหรือกรณีนายจ้างนำประวัติอาชญากรของผู้ร้องที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในขณะที่ยังเป็นเยาวชนและพ้นโทษแล้วมาประกอบการพิจารณาและปฏิเสธการเข้าทำงาน หรือปัญหาบุคคลผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่ง กสม. เคยมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคัดแยกทะเบียนเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้พ้นผิดให้กลับคืนสู่สังคมแล้ว
กม.หลายฉบับไม่รับ ‘สิทธิชุมชน’
ประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยังคงพบปัญหาและข้อจำกัดจากกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ ที่ยังไม่ยอมรับสิทธิชุมชนและสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเพิกถอนสิทธิของชุมชนในการจัดการป่าที่เคยมีอยู่เดิม ขณะที่นโยบายการพัฒนาของรัฐยังมุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม สร้างภาระ ผลกระทบทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพแก่ชุมชนท้องถิ่นที่ต้องเผชิญปัญหาการถูกแย่งชิงทรัพยากร และเกิดกรณีการฟ้องคดีไล่รื้อที่อาศัยประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ที่ดินและทรัพยากรตามประเพณีด้วย
ขอสัญชาติ ยังมากด้วยอุปสรรค
ส่วนประเด็นสถานะบุคคล ยังพบอุปสรรคในกระบวนการให้สถานะจากทั้งตัวผู้ยื่นคำขอสัญชาติและสถานะบุคคล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และกระบวนการยื่นคำขอที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและหนังสือสั่งการหลายฉบับ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักทะเบียนอำเภอและจังหวัดก็มีจำนวนไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา
บางคนมีทัศนคติเชิงลบต่อบุคคลไร้สัญชาติ และยังคงมีรายงานการทุจริตอันเกี่ยวกับการดำเนินงาน
ด้านสัญชาติด้วย นอกจากนี้ ยังพบอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นซึ่งแม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 เพื่อพิสูจน์และรับรองคนไทยพลัดถิ่นมาแล้ว 10 ปี แต่การแก้ไขปัญหาพิสูจน์รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นยังมีความล่าช้าส่งผลให้ผู้ที่อยู่ระหว่าง
การดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้
“ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ภาคีเครือข่ายจะได้นำเสนอข้อมติทั้ง 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่ได้ร่วมกันสะท้อนสถานการณ์ปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไข พร้อมกันนี้จะมีการประกาศเจตนารมณ์รวมพลังขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ซึ่งประชาชนหรือผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดประเด็นการพูดคุยและสาระในงานได้ทาง Facebook Live สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 นี้ ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ