‘อมรัตน์ ก้าวไกล’ ชี้ลงโทษ ‘วิชิต ลีธรรมชโย’ ไม่เป็นธรรม หลังที่ประชุม ก.ต.มีมติการร่วมชุมนุมม็อบราษฎรของเจ้าตัวผิดวินัยไม่ร้ายแรง อัดหากตุลาการได้รับความไม่เป็นธรรมเสียเอง แล้วประชาชนจะพึ่งพาอะไรได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า จากกรณีที่กมธ. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากหลายช่องทางเป็นจำนวนมาก ในประเด็นที่คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ได้มีมติลงโทษนายวิชิต ลีธรรมชโย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ในฐานะผู้ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา โดยการตัดเงินเดือนและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่มีความเหมาะสมในการเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งผลการลงมติของก.ต.ในครั้งนี้ มีความผิดปกติไปจากประเพณีปฏิบัติของศาลยุติธรรม และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรม เนื่องจากปกติแล้วการลงโทษในชั้นอนุกรรมการตุลาการ จะไม่มีการลงโทษในขั้นที่รุนแรงกว่า มีแต่เท่ากันหรืออ่อนกว่า
อ่านเพิ่มเติม: มติ ก.ต.ไม่ต่ออายุ ‘วิชิต’นั่งผู้พิพากษาอาวุโส หลังร่วมชุมนุมม็อบราษฎร
นางอมรัตน์ กล่าวว่า โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว เกิดจากนายวิชิต เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง และมีการถูกร้องเรียน ในชั้นกรรมการสอบสวนและในชั้นอนุก.ต. มีมติเอกฉันท์ว่า เป็นการผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง และมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่านายวิชิต ยังมีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาได้ แต่เมื่อเรื่องมาถึงก.ต. ก็ยังมีความเห็นว่า การไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เป็นการผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรงเช่นเดียวกัน แต่กลับมีมติลงโทษด้วยการตัดเงินเดือน และกลับไปนำข้อเท็จจริงในชั้นพนักงานสอบสวนมากล่าวนายวิชิต ว่าเป็นพวกล้มสถาบัน
“เราจะเห็นได้ชัดว่า ในมติของก.ต.ในครั้งนี้ มีความย้อนแย้งในตัวเอง กล่าวคือเมื่อก.ต. มีมติว่า เป็นความผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง แต่กลับลงโทษขั้นรุนแรง ด้วยการทั้งตัดเงินเดือนและด้วยการไม่ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกาด้วย ซึ่งมีผลทำให้นายวิชิต จะต้องเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ แทนที่จะได้รับราชการต่อไป” นางอมรัตน์ กล่าว
นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า ในฐานะกมธ. ที่ติดตามและสนใจในประเด็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านการใช้สิทธิชุมนุม ทั้งนี้ เมื่อได้รับข้อร้องเรียนและการตั้งคำถามกับสังคมจำนวนมาก ว่าแม้แต่ตัวตุลาการเอง ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม หากได้รับการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมเสียเอง จะเหลือกระบวนการอะไรให้ประชาชนได้เป็นที่พึ่งสุดท้ายและเป็นที่หวังในความเป็นธรรมได้อีก