สธ.ยันจัดหา-กระจายยารักษาโควิดทั่วประเทศอย่างเพียงพอ มีฟาวิฯ 6.8 ล้านเม็ด โมลนูฯ 6.6 ล้านเม็ด อยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มอีก 30 ล้านเม็ด เพื่อสามารถมียาใช้มากกว่า 30 วัน ย้ำผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดหายารักษาโรคโควิด-19 จำนวน 4 รายการ คือ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือคัดเลือกยาคุณภาพจากต่างประเทศและนำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ยืนยันว่ามีการจัดหาและกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ ไปยังทุกจังหวัดอย่างเพียงพอ โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนยาให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ 265.5 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ 375,210 ขวด
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 มียาคงคลังในพื้นที่ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ รวม 11.2 ล้านเม็ด และยังมีสำรองที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันอัตราการใช้ยาเพียงพอต่อการใช้มากกว่า 14 วัน และมีการติดตามการใช้ยาด้วยระบบ VMI เมื่อมีการใช้ยาจะส่งไปทดแทนต่อเนื่อง เพื่อให้ในพื้นที่มียาคงคลังสำหรับการใช้ในระยะเวลามากกว่า 14 วัน นอกจากนี้ ส่วนกลางยังมีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์กว่า 2 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นขวด
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ยาแต่ละรายการมีข้อบ่งชี้ในการใช้แตกต่างกัน ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย แม้จะเป็นกลุ่ม 608 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ ข้อบ่งชี้และแนวทางการดูแลรักษาตามมาตรฐานของกรมการแพทย์ โดยยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับ 2 ขึ้นไป โรคไตเรื้อรังระยะ 3 ขึ้นไป โรคหัวใจและหลอดเลือดระดับ 2 รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิด ภาวะอ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI เกิน 30 กก./ตร.ม. มีภาวะตับแข็งระดับ 8 ขึ้นไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมินาน 15 วันขึ้นไป ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.ม. หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ คือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น
“แม้จะมีโรคเรื้อรัง แต่การจ่ายยาอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากความเสี่ยงในกลุ่มที่มีอาการมากหรือควบคุมอาการไม่ได้ รวมทั้งยาต้านไวรัสรักษาโควิด 19 เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน ขณะนี้ อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลและคลินิกเวชกรรม ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อยามากินเอง จะเป็นอันตรายได้” นพ.ธงชัย กล่าว