‘พีระพันธุ์’ นั่งหัวโต๊ะถก ‘บอร์ดอำนวยความเป็นธรรมฯ’ สั่งตั้ง 'บอร์ดชุดเล็ก' ติดตาม-เร่งรัดการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
...............................
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชน 3 ราย ได้แก่ นางศศิกานต์ จ่อยลา ราษฎร ต.โนนสวรรค์ ซึ่งขอความอนุเคราะห์จัดสรรเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากมีฐานะยากจน และต้องเลี้ยงดูบุตรและหลานที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและออทิสติก
นายเอกชัย ชาญประโคน ราษฎร จ.บุรีรัมย์ ขอความเป็นธรรมกรณีการถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันผู้ร้องป่วยเป็นผู้พิการแขนขา ซีกขวาอ่อนแรง และนายเคน โยธาจันทร์ อาชีพเกษตรกรรม มีรายได้เดือนละ 500 บาท และได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ซึ่งขึ้นทะเบียนผู้พิการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ ทั้งยังต้องเลี้ยงดูภรรยา ลูกหลาน
ที่ประชุมยังได้รับรายงานข้อมูลเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องขอความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย และการอำนวยความสะดวกของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้ พม.รับไปพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบการทำงานอย่างชัดเจนและคล่องตัวมากขึ้น ประกอบด้วย 1.คณะทำงานรวบรวมจัดกลุ่มเรื่องร้องทุกข์ที่ได้มีการร้องเรียนมาแล้วตั้งแต่ปี 2560 และยังค้างคาอยู่ 2.คณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อรับเรื่องใหม่ที่ประชาชนร้องเรียนในปัจจุบัน 3.ทีมงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ
4.ทีมงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทำงานด้านการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการเงิน และ 5.ทีมงานที่จะเข้ามาดูงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเฉพาะกิจที่ไม่เข้ากับกลุ่มใด
“คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ จะลงไปทำงานในพื้นที่ทันที เพื่อรายงานรายละเอียดต่างๆมายังคณะกรรมการชุดใหญ่ รวมถึงปัญหาในการทำงาน และในกรณีที่มีปัญหาหรือจะขอให้ประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ ก็ให้เสนอขอข้อคิดเห็นต่อที่ประชุม เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว” นายพีระพันธุ์ กล่าวในที่ประชุม
นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการฯแล้ว ตนจะลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหารวดเร็วที่สุด เพราะไม่อยากให้เป็นแค่การนั่งประชุมในห้องเท่านั้น ซึ่งพบว่ามีปัญหาข้อร้องเรียนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า พม.ได้แก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว แต่การทำงานยังคงขาดการประสานงานทำให้บางเคสยังแก้ไขไม่จบกระบวนการ จึงสั่งการให้เร่งบูรณาการทำงานร่วมกัน ส่วนของกรณีร้องเรียนเรื่องการถูกเลิกจ้าง ก็ได้ประสานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อให้ช่วยเหลือหางานให้ผู้ร้องไปก่อน จึงทำให้ที่ผ่านมาได้สามารถช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 4 เคส