สมช.ชง ศบค. เคาะผับบาร์ปิดตี 2 เลขาฯชี้ต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย จ่อคลอดข้อกำหนดกำกับอีกเร็วๆนี้ ส่วนการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นข้อสั่งการนายกฯ ยืนยันทำงานไม่ทับซ้อน ‘กระทรวงพลังงาน - สภาพัฒน์’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2565 พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า กรณีการเปิดผับบาร์ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ตามที่ประชุมศูนย์บริหำรสถำนกำรณ์กำรแพร่ระบำดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนำ 2019 (โควิด - 19). หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมมีมติให้สถานบริการทั้งหมดเปิดได้ตามกฎหมายปกติ ซึ่งกฎหมายปกติต้องดูพ.ร.บ.ปี 2509 ดูกฎกระทรวง และคสช. ทั้งหมดมีกำกับไว้หมดแล้วเรื่องของเวลาเปิด-ปิด ในพื้นที่ที่เป็นโซนนิ่งและไม่โซนนิ่ง เวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการได้มีการร้องขอให้ยกเลิกกฎหมายบางส่วนนั้น ต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ในส่วนที่ศบค.รับผิดชอบนั้น เป็นไปตามประกาศที่กำลังจะออกเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนในอีกไม่กี่วัน สถานบริการทั้งหมดำเนินการตามกฎหมายปกติที่เคยมีก่อนโควิด-19
พลเอกสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรายละเอียดคร่าวๆตามกฎหมายปกติจะมีโซนนิ่งและไม่โซนนิ่ง แต่เวลาเปิด-ปิดจะอยู่ที่ประเภทของสถานบริการที่จะเปิด เวลาจะมีช่วง 24.00-02.00 น. ไม่เกินนี้ แล้วแต่รูปแบบของผู้จดทะเบียน
ดูปัญหาเศรษฐกิจเป็นข้อสั่งการนายกฯ
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมการมอบให้ สมช. เตรียมหารือเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน และอาหาร เพื่อเป็นการเตรียมแผนเผชิญเหตุ มองว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงคือ การเตรียมความพร้อมรองรับอนาคต เบื้องต้นที่ได้พูดคุยและประเมินสถานการณ์ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สมช.อยู่แล้วในการประเมิน ก็มองว่า ไม่ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติลงเมื่อใด ในระยะเวลาอันสั้นหรือจะยืดเยื้อยาวนาน ปัจจุบันผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากผลพวงของสงครามมีการคว่ำบาตร มีการต่อต้านในเรื่องเศรษฐกิจ ก็มองว่า ควรคิดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย อันนี้เป็นเจตนารมณ์ของนายกฯ
ทั้งนี้ หลังจากนายกฯ สั่งการ ก็ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจ ซึ่งทำงานตามหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่นำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อประเมิน และกำหนดเป็นแผนที่จะเตรียมการสำหรับอนาคต จะมีระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว
ร่วมเอกชน - ไม่ทับซ้อน ‘ก.พลังงาน-สภาพัฒน์’
พลเอกสุพจน์ ยังกล่าวอีกว่า แผนการที่จะดูปัญหาที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจชะลอตัว และมีผลกระทบต่อประชาชนคนไทย สุดท้ายจะทำให้มีปัญหา จุดนี้ถือเป็นเรื่องของความมั่นคง เรื่องพลังงานและอาหาร
ในส่วนที่สมช.จะต้องร่วมมือด้วยคือภาคเอกชน ระหว่างนี้กำลังพูดคุยหารือเพื่อจัดระบบการติดตามประมวลผล และทำข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล ซึ่งสมช.มีความเกี่ยวข้องอย่างไร พลเอกสุพจน์ ระบุว่า จะทำงานภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดประเด็นใดที่จะกระทบความมั่นคง คณะกรรมการชุดนี้สามารถหยิบยกเป็นประเด็นเอามาดำเนินการได้ โดยอนาคตอาจจะต้องมีการตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อจัดทำข้อเสนอให้กับรัฐบาล
เมื่อถามว่า รูปแบบการทำงานจะอยู่เหนือกระทรวงพลังงานหรือไม่ พลเอกสุพจน์ ระบุว่า จะเป็นการทำงานคู่ขนาน จะมีการเสนอแนวทางแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบ ในส่วนของพ.ร.บ.ความมั่นคง จะใช้เมื่อยามจำเป็น ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในแผน
เมื่อถามอีกว่า งานจะซ้ำซ้อนกับทางสภาพัฒน์หรือไม่ พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เมื่อวานสภาพัฒน์ได้มานั่งคุยและได้ข้อมูลที่ดีมากจากที่สภาพัฒน์ทำ โดยสภาพัฒน์ก็จะมีข้อเสนอในส่วนของสภาพัฒน์ กระทรวงพลังงานก็จะมีแนวทางแก้ไขของกระทรวงพลังงาน มีกรรมการนโยบายต่างๆ ซึ่งตนเองจะเป็นฝ่ายรวบรวมข้อมูลเพื่อประสานงานและประเมิน เพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต