จุรินทร์-ชัยวุฒิ มองอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่มีอะไร พร้อมชี้แจงทุกประเด็น หยันมอตโต ‘เด็ดหัวสอยนั่งร้าน’ แค่สีสัน ด้าน ‘ธรรมนัส’ ขอรอดูการอภิปรายฝ่ายค้านก่อน รับรัฐมนตรีที่โดยซักฟอกน่าห่วงทุกคนเว้น ‘บิ๊กป้อม’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีถูกยื่นเป็น 1 ในรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ถือเป็นโอกาสที่ดีในการแถลงผลงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และยินดีที่จะตอบคำถามทุกคำถามในส่วนที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเป็นประเด็นอะไรบ้าง ที่สำคัญอยากให้วิปแต่ละฝ่ายจัดสรรเวลาเพื่อให้รัฐบาลได้มีโอกาสตอบชี้แจงฝ่ายค้านในเวลาที่เท่ากัน และเพื่อที่รัฐบาลจะได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ติดตาม ในส่วนของการชี้แจงนั้นหากได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ไว้ก็จะชี้แจงให้กับประชาชนได้ทราบ เพราะการอภิปรายของฝ่ายค้านไม่ได้แปลว่าจะถูกต้องหรือครบถ้วนเสมอไป แต่ก็ไม่ไปปรามาสอะไรก่อน หมายความว่าอะไรที่สามารถชี้แจงได้ก็จะทำ
วีระชัย ไขก๊อกไปดูแลพ่อแม่
เมื่อถามถึงกรณีนายวีระชัย วีระเมธีกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นส.ส.แล้ว นายจุรินทร์ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากนายวีระชัยได้เข้ามาพบและหารือ ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปได้เลื่อนขึ้นมา โดยนายวีระชัยแจ้งว่าประสงค์ที่จะไปดูแลบิดา มารดา และจะเดินทางไปต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตามนายวีระชัย ยังมีความประสงค์ที่จะช่วยงานพรรค และยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่
ด้านชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ไม่ตกใจที่ถูกยื่นซักฟอก เรื่องที่ฝ่ายค้านและ ส.ส.ไม่พอใจหรือสงสัยเรื่องใดก็จะชี้แจงในการอภิปราย
เมื่อถามว่า ญัตติที่จะถูกอภิปรายค่อนข้างรุนแรงมีความกังวลหรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำงานในกระทรวงที่เป็นเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งประชาชนถูกหลอกลวง เราก็ไม่สบายใจ โดยกระทรวงก็ได้มีการติดตามเรื่องนี้มาตลอดและพยายามแก้ไข แต่ก็ยอมรับว่ามันมีเรื่องของอำนาจหน้าที่และข้อกฎหมาย อย่างเช่น การดำเนินคดีกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ต่างประเทศไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะอยู่นอกอำนาจอธิปไตยของเรา รวมถึงข้อกฎหมายในการปิดกั้นหรือบล็อกเว็บไซต์หรือแอคเคาท์ที่ผิดกฎหมาย เราก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ต้องใช้อำนาจศาลและรวบรวมพยานหลักฐานหลายอย่างก็อาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการแจ้งเตือนประชาชนและให้ความรู้และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนซึ่งเราก็ทำอยู่ตลอด
“ส่วนเรื่องการทำผิดกฎหมาย หรือทุจริต ผิดจริยธรรม ผมไม่ได้ทำอยู่แล้ว อาจจะมีความเข้าใจคาดเคลื่อน ก็คงต้องชี้แจงในสภาให้เพื่อนสมาชิกได้เข้าใจ ซึ่งทุกคนก็ทำตามกฎหมาย เพราะการทำงานในกระทรวงทุกกระทรวงจะมีข้าราชการ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ก็ตาม ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีใครทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนก็รู้ว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก สิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่ทำอยู่แล้ว ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามประมวลจริยธรรม ผมไม่ได้ห่วงเรื่องนี้อยู่แล้ว” นายชัยวุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านจะปิดเกมรัฐบาลได้หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ไม่รู้ว่าใครปิดเกมใคร เป็นเรื่องที่ทุกคนต่างทำหน้าที่ อย่าไปคิดเป็นเกมเลย คิดว่าการตรวจสอบรัฐบาลด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะฝ่ายค้านจะได้นำเสนอปัญหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้องให้รัฐบาลได้รับทราบและรัฐบาลจะได้ชี้แจง ส่วนถ้าใครทุจริต ทำผิดกฎหมาย ฝ่ายค้าน นอกจากจะอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ก็สามารถดำเนินคดีได้ เช่น ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ถอดถอนจากตำแหน่งก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่ต้องทำงานร่วม ถือว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนไม่ได้น่าตกใจอะไร
เด็ดหัวสอยนั่งร้าน แค่สีสัน
เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “การใช้คำพูดแบบนี้เพื่อทำให้เกิดสีสัน ทำให้คนสนใจหวือหวาหน่อย เป็นการโหมโรงก็เป็นเรื่องธรรมดาของฝ่ายค้านไปดูที่สาระดีกว่า หนังบางเรื่องชื่ออาจบู๊ แต่ในเนื้อเรื่องอาจจะเศร้าก็ได้หรือเป็นหนังตลกก็ไม่รู้”
เมื่อถามว่าหลังการอภิปรายจะนำไปสู่การยุบสภาเร็วขึ้นหรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า คิดว่าหากเราผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ เราก็ต้องทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อยก็เรื่องของงบประมาณที่ต้องผ่านสภา รวมถึงเรื่องจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะมาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งเราก็ต้องจัดการประชุมนี้ให้สำเร็จให้ได้ หากมีการยุบสภาหรือไม่มีรัฐบาล จะทำให้การประชุมเอเปกจัดขึ้นได้ยาก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศด้วย
เมื่อถามว่า มั่นใจว่าเสียงของรัฐบาลจะลากยาวไปถึงการประชุมเอเปก นายชัยวุฒิกล่าวว่า เป็นเป้าหมายที่เราพูดคุยกัน หลังจากนั้นก็แล้วแต่สถานการณ์การเมืองก็ต้องไปว่ากันอีกที วันนี้ต้องมองเป็นช่วงๆ อย่ามองไกลมากไม่ได้
ยุบสภาหลังเอเปกไปถาม ‘บิ๊กป้อม’
เมื่อถามว่า เป้าหมายจะเป็นตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุจะมีการยุบสภาหลังการประชุมเอเปกหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ ไม่ทราบต้องไปถามดูอีกที แต่เป้าหมายเอาแค่นี้ก่อน จากนั้นค่อยไปว่ากันอีกที ไม่ต้องรีบยุบสภา จะรีบเลือกตั้งไปทำไม ใจเย็นๆ ยังมีเวลาทำงานให้กับประชาชนอีกตั้งเยอะ มีปัญหาพี่น้องประชาชนที่ต้องเร่งแก้ไขก็มีอีกหลายเรื่อง ซึ่งตนเชื่อว่าที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาดูแลพี่น้องประชาชนได้ดี และไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเรื่องการป้องกันการแพร่โควิด-19 ซึ่งวันนี้เราก็สามารถเปิดประเทศได้แล้ว เป็นความสำเร็จที่เราสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้ ประเทศเราเดินไปข้างหน้าแล้ว วันนี้เราก็ต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศประเทศให้สงบสุข เกิดความเชื่อมั่นดีกว่า เศรษฐกิจจะได้เดินหน้าไปได้
‘บิ๊กป้อม’ ไม่น่าห่วง
ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กล่าวว่า ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าต้องฟังเนื้อหาที่ฝ่ายค้านอภิปรายเสียก่อน ถ้าเสียหายต่อประเทศเราลงมติไม่สนับสนุนแน่นอน
เมื่อถามว่า ดูจากรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายใครน่าเป็นห่วงที่สุด ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ทุกคนดูน่าเป็นห่วงหมด ยกเว้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้กำกับกระทรวงไหนเป็นหลัก ทั้งนี้ เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนพอทราบว่ารัฐมนตรีแต่ละคนเป็นอย่างไร ก็ถือว่าน่าเป็นห่วง
ถามอีกว่าข้อหาที่ฝ่ายค้านกล่าวหานายกรัฐมนตรีในการภิปรายไม่ไว้วางใจว่าพิการทางสมอง แรงไปหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ขอแสดงความคิดเห็น
ถามต่อว่าเนื้อหาในการอภิปรายก็ต้องฟัง แต่ดูเหมือนการลงมติเป็นคนละเรื่องกัน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดประชุมมา สิ่งที่น่าห่วง คือ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การเป็น ส.ส. แล้วไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ให้พึ่งระวัง สมัยหน้าอาจจะไม่ได้กลับมา อย่าลืมว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทุกอย่างอยู่ในมือถือ ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดทราบหมดว่า ส.ส.ทำอะไร ไม่ใช่ถึงเวลาโหวตแล้วส่งสัญญาณให้โหวต ตรงนี้ไม่เห็นด้วย ขอให้ฝากจับตาดูให้ดี
“ผมอยู่การเมืองตั้งแต่ปี 2542 ไม่เคยเห็นภาพการลงมติที่ต้องได้รับการส่งสัญญาณ ภาพที่ออกมาดูน่ารังเกียจ เพราะการลงมติเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่ต้องยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่รับฟังคำสั่งอย่างเดียว” หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยกล่าว