ตำรวจ ปอศ. บุกจับ 8 ผู้ต้องหาเครือข่าย Moneyday Credit ปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยโหด 45% ต่อเดือน พบพฤติการณ์เน้นปล่อยกู้ผู้ประกอบธุรกิจ-SMEs ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 มิถุนายน 2565 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) และ พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ. ร่วมแถลงผลจับกุมเครือข่ายเงินกู้นอกระบบออนไลน์ "moneyday credit" พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 450 ล้านบาท โดยจับกุมผู้ต้องหา 8 ราย ประกอบด้วย
1.นายอนิวัฒน์ บัวใหญ่ อายุ 26 ปี 2.นายอลงกรณ์ แสงสุธา อายุ 26 ปี 3.นายธนพล ศรีภา อายุ 19 ปี 4.นายนัฐวุฐ ภูมี อายุ 24 ปี 5.นายพงศกร จุณศรี อายุ 26 ปี 6.นายจิรพันธ์ พงษ์สุกรี อายุ 26 ปี 7.นายอดิเทพ ลันละนา อายุ 31 ปี 8.นายสมโชค อาจหาญ อายุ 25 ปี
โดยทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 1133-1140/2565 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565
ข้อหา "ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียก ดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด" พร้อมของกลาง มือถือ 54 เครื่อง, โน๊ตบุ๊ก 25 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง, แท็บเล็ต 4 เครื่อง และซิมโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก รวมจำนวนของกลางกว่า 300 รายการ
พ.ต.อ.ภาดล เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 มีผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. หลังจากกู้ยืมเงินจากเว็บไซต์ www.moneydaycredit.com และมีชำระค่าดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยมีดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อวัน หรือร้อยละ 45 ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 547.5 ต่อปี จึงไม่มีเงินในการชำระหนี้ ทางเว็ปไซต์จึงได้ส่งกลุ่มชายฉกรรจ์มาทำการข่มขู่ให้ชำระหนี้
ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงทำการสืบสวนจนพบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีการชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปกู้เงิน โดยเน้นเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMES) ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมายได้ โดยขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อของนั้นไม่จำเป็นต้องใช้หลักฐานยืนยันตัวตนหรือใช้คนค้ำประกัน ส่วนกรณีที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทางเว็ปไซต์จะไปสำรวจกิจการเพื่อประกอบการพิจารณา เมื่ออนุมัติสินเชื่อแล้ว ทางเว็ปไซต์จะโอนเงินไปให้ผู้กู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งไปยังบัญชีธนาคารของลูกหนี้ โดยจะหักยอดเงินกู้เป็นดอกเบี้ยงวดแรกไว้ก่อน หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ก็จะใช้วิธีการข่มขู่เพื่อให้ชำระหนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าเครือข่ายดังกล่าวมีเวินหมุนเวียนถึง 450 ล้านบาท
พ.ต.อ.ภาดล กล่าวอีกว่า เครือข่ายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนในช่วงวิกฤตเชื้อโควิด-19 โดยคาดว่ามีผู้เสียหายหลายร้อยรอย อีกทั้งบางรายมีความเครียดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้สืบสวนหาเบาะแสจนกระทั่งสามารถนำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านพัก และ สำนักงานของเครือข่ายดังกล่าว ในพื้นที่จ.จันทบุรี, ปทุมธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา และ กรุงเทพฯ รวม 5 จังหวัด ทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 8 ราย และยังสามารถจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้อีก 21 ราย ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น, นครราชสีมา, กรุงเทพฯ และ ปทุมธานี รวมเป็น 29 ราย เบื้องต้นจึงนำตัวส่ง กก.5 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย และดำเนินการขอปิดเว็ปไซต์ดังกล่าว รวมถึงขยายผลถึงนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังต่อไป