'นิด้าโพล' เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'ถอดหน้ากากในที่โล่งแจ้ง – เปิดสถานบันเทิงถึงตี 2' ระหว่างวันที่ 6-8 มิ.ย. 65 พบไม่มีความกลัวเลย32.90% และเห็นด้วย37.48% ในการถอดหน้ากาก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'ถอดหน้ากากในที่โล่งแจ้ง – เปิดสถานบันเทิงถึงตี 2' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับแนวคิดที่จะอนุญาตให้ประชาชนถอดหน้ากากในที่โล่งแจ้งและการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 2 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส CO VID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.90 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ดูแลป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รองลงมา ร้อยละ 29.01 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้านต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ร้อยละ 25.27 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ดูแลและป้องกันตนเองเป็นอย่างดี และไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และร้อยละ 12.82 ระบุมีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเเพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว จึงเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่าย และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ เดือนมีนาคม 2565 พบว่า ผู้ที่ระบุว่ามีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ด้านความถี่ในการได้รับการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.12 ระบุว่า นาน ๆ ตรวจที รองลงมา ร้อยละ 27.25 ระบุว่า ตรวจอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 14.66 ระบุว่า ไม่เคยตรวจเลย ร้อยละ 2.82 ระบุว่า ตรวจทุก 3 วัน ร้อยละ 0.69 ระบุว่า ตรวจทุกวันและร้อยละ 0.46 ระบุว่า ตรวจวันเว้นวัน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ เดือนมีนาคม 2565 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ตรวจทุกวัน ตรวจวันเว้นวัน ตรวจทุก 3 วัน และไม่เคยตรวจเลย มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า ตรวจอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และนาน ๆ ตรวจที มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดที่จะอนุญาตให้ประชาชนถอดหน้ากากได้ในขณะอยู่ในที่โล่งแจ้ง พบว่า ร้อยละ 37.48 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 27.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 17.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 17.33 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดที่จะอนุญาตให้สถานบันเทิงเปิดบริการได้ถึงตี 2 พบว่า ร้อยละ 25.65 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และค่อนข้างเห็นด้วย ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 23.36 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.18 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.51 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 48.32 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.68 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 17.18 มีอายุ 15-25 ปี ร้อยละ 17.02 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.32 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 25.34 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 22.14 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.18 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.67 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.00 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 34.43 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.36 สมรสแล้ว และร้อยละ 3.21 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่
ตัวอย่าง ร้อยละ 26.49 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.49 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.71 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.95 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.13 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.23 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.86 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.73 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.84ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 10.61 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.43 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.53 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 8.85 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่าง ร้อยละ 27.33 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.09 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 28.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.69 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.43 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 3.82 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.24 ไม่ระบุรายได้