กสม.มอบรางวัลบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน 6 ราย พบมีทั้งสื่อมวลชน, นักสังคมสงเคราะห์, สิทธิทางเพศ, ประมงพื้นบ้าน และอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนระดับองค์กรมอบอีก 2 รางวัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 มิถุนายน 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นตัวแทนประกาศผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564
ซึ่งในการประชุมด้านบริหาร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 มีมติรับรองผลการพิจารณารวมทั้งสิ้น 8 รางวัล จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
1. ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 6 รางวัล ได้แก่
1.1 นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส องค์กรในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านป้องกันเอชไอวี (HIV) และเอดส์ (AIDS) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึง
ด้านสุขภาพทางเพศและสิทธิทางเพศในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นผู้มุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่คนข้ามเพศและบุคคลหลากหลายทางเพศมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี และมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การผลักดันให้มีกฎหมายคู่ชีวิต ที่เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้เหมือนคู่สมรสหญิงชายทั่วไป
พงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส
1.2 นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป ผู้ดำเนินรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS
ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนมามากกว่า 27 ปี และได้นำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตสารคดีเชิงข่าวผ่านรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS เช่น การนำเสนอประเด็นสิทธิชุมชนในการร่วมดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิทธิของกลุ่มเปราะบางอย่างคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประเด็นสถานะบุคคลของสามเณรไร้สัญชาติจำนวนหลายพันรูปที่เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือประเด็นผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหลายประเด็นที่นำเสนอก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม
นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป ผู้ดำเนินรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS
1.3 นางสาวภูษา ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการโครงการเลี้ยงดูทดแทน มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation) และผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต
เมื่อครั้งทำงานในฐานะข้าราชการ มีผลงานด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองเด็กและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนมาก
เช่น การประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศริมน้ำโขงเพื่อรับตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กลับคืนสู่ภูมิลำเนา ปี 2555 ภายหลังลาออกจากราชการ ได้เข้าทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่ง
โดยขับเคลื่อนให้เกิดการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปัจจุบันรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเด็กกับการเลี้ยงดูทดแทน
ภูษา ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการโครงการเลี้ยงดูทดแทน มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation) และผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต
1.4 นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
เริ่มงานในฐานะครูข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน โดยสนับสนุนให้เด็กเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้สูงอายุผ่านการประดิษฐ์ของเล่นไม้จากวัสดุธรรมชาติ
นอกจากนี้ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ได้จัดกิจกรรมอบรมครู เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปส่งเสริมเยาวชนในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและการผลิตสื่อสร้างสรรค์ รวมทั้งยังทำงานกับเครือข่ายประชาชนชายแดนไทย เมียนมาร์ และลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาโดยไม่เลือกชาติพันธุ์
วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
1.5 นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับชุมชนในเขตอำเภอเมืองและอำเภอกุยบุรี เพื่อปกป้องทรัพยากรชายฝั่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์” เพื่อดูแลปกป้องทรัพยากรชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ในปี 2551 ยังได้สนับสนุนจัดตั้ง “สมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย” ซึ่งดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปู” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านในประเทศไทยอีกหลายกรณี
ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย
1.6 นางสาวกูปัทมา กาลีกาตะโป อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
อาจารย์ที่รับผิดชอบรายวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2560 โดยได้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาบูรณการในการเรียนการสอนของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกลุ่ม “สตรีเพื่อชุมชน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิสตรีที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม รวมทั้งองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก และกฎหมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวแก่ชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
กูปัทมา กาลีกาตะโป อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
2. ประเภทองค์กรภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผลงานเด่นในการริเริ่มโครงการจำแนกที่ดิน – ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่ตำบลแม่แดด ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรในพื้นที่กว่า 1,236 ครัวเรือน ซึ่งดำรงชีวิตที่พึ่งพากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาหลายชั่วอายุคน แต่ไร้ซึ่งสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมตำบลแม่แดดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Database : Geographic Information System) ด้านการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในพื้นที่ตำบลแม่แดดทั้ง 8 หมู่บ้าน ผลงานดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบป่าไม้กับชุมชนเพื่อ
ลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่
โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงชีวิตและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน