กสม. ชี้กรณีบูลลี่คนอีสานในคลับเฮาส์ละเมิดสิทธิฯ เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันสร้างความตระหนักและค่านิยมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีบูลลี่คนอีสานในคลับเฮาส์ละเมิดสิทธิฯ ว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2565 กรณีบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มคลับเฮาส์ (Clubhouse Application) ใช้คำพูดที่มีลักษณะเป็นการจงใจ ดูหมิ่น เหยียดหยาม และด้อยค่าคนอีสาน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงความไม่เหมาะสมนั้น
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเห็นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้ร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ความเห็น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาแล้วเห็นว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ คุณค่าในฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์ บุคคลจะปฏิบัติต่อบุคคลด้วยกันโดยทำให้ผู้ที่ถูกปฏิบัติมีคุณค่าที่ต่ำลงกว่าความเป็นมนุษย์ไม่ได้ นอกจากนี้ ชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคล เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามให้การรับรองไว้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิดังกล่าวนี้จึงย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐและบุคคลทั่วไปที่จะต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการใดก็ได้ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่ผู้ถูกร้องได้ตั้งกลุ่มในสื่อสังคมออนไลน์คลับเฮาส์ เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 และมีการพูดคุยในกลุ่มโดยใช้คำพูดในลักษณะเหยียดหยามบุคคลในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะการเหยียดหยามคนอีสาน นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นักร้อง นักแสดง ถูกกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เป็นการทำให้คุณค่าในฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นต่ำลง ทั้งยังมีผลกระทบต่อสิทธิในชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคล อันถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินขอบเขตและละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น จึงเห็นว่า ในชั้นนี้กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องทุกข์จากกรณีที่เกิดขึ้น และดำเนินการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจ แต่เนื่องจากการตรวจสอบมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ในขณะจัดทำรายงานฉบับนี้จึงยังไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ใดได้ นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน กสทช. ต่างก็ดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบและหาแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก จึงเห็นว่า หน่วยงานได้ทำหน้าที่เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกละเมิดตามสมควรแก่กรณีแล้ว
อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาของภัยจากสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมีความสำคัญและน่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyberbullying) และประทุษวาจา (Hate Speech) เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหาย รู้สึกอับอาย และได้รับผลกระทบทางจิตใจ อันอาจนำไปสู่การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีอื่น ๆ ได้อีก โดยที่การกระทำในลักษณะนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ประกอบกับเมื่อพิจารณามาตรการป้องกันหรือแก้ไข ทั้งในรูปแบบของข้อกฎหมาย หรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ พบว่ายังมีข้อจำกัดและอาจไม่ทันต่อภาวะลุกลามของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาทางวิชาการหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังอุดมไปด้วยอคติต่อบุคคลที่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะทางเชื้อชาติ เพศ และศาสนา ซึ่งหากไม่ได้รับการขจัดอคติดังกล่าว อาจนำไปสู่การกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
ดังนั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 จึงเห็นควรมีเสนอแนะสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
-
ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือร่วมกับสำนักงาน กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการกระทำที่ไม่เหมาะสมทางออนไลน์ ตลอดจนการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น การรายงานการกระทำที่ไม่เหมาะสม การสร้างค่านิยมที่ดีในการใช้งาน การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อควบคุมการใช้งาน การบังคับให้ผู้ใช้งานยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน การติดตามผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดี เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ทั้งนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานข้อเสนอแนะนี้
2) มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
-
ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณากำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงกำหนดหลักสูตรเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์
-
ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงวัฒนธรรม และกรมกิจการเด็กและเยาวชน บูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างความรู้เท่าทันและความตระหนักในการใช้สื่อดิจิทัลและข้อมูลข่าวสาร โดยกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการสร้างความตระหนักรู้และค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ที่เคารพในความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงของผู้อื่น รวมถึงการรู้เท่าทันภัยจากสื่อออนไลน์
-
ให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมสร้างการตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สร้างความรับรู้เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมวงกว้าง เพื่อช่วยปลูกฝังให้เกิดความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางความคิด และความหลากหลายในสังคม
-
ให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาดำเนินการศึกษาและผลักดันให้มีกฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วให้มีเนื้อหาครอบคลุมการคุ้มครองเด็กจากภัยในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศหรือความผิดเกี่ยวกับเพศ