กสม. ติดตามผลการแก้ไขปัญหาฐานข้อมูลประวัติอาชญากรที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้พ้นโทษและเยาวชน แนะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเร่งทำกฎหมายกลาง-ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการติดตามผลการแก้ไขปัญหาฐานข้อมูลประวัติอาชญากรที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้พ้นโทษและเยาวชน ว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อเจ้าของข้อมูลหลายกรณีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เสรีภาพในการประกอบอาชีพ กรณีหน่วยงานปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานหรือกรณีนายจ้างนำประวัติอาชญากรของผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในขณะที่ยังเป็นเยาวชนและศาลมีคำพิพากษาโดยให้เปลี่ยนโทษเป็นการฝึกอบรมหรือผ่านเงื่อนไขการคุมประพฤติแล้วมาประกอบการพิจารณาและปฏิเสธการเข้าทำงาน หรือกรณีฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้บุคคลผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินแล้วยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร
โดยที่ผ่านมา กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อแก้ไขปรับปรุงระเบียบ สตช. ที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนประวัติอาชญากรแล้วหลายฉบับ ซึ่ง สตช.ได้ดำเนินการคัดแยกประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรรมของคนทั่วไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม กสม. ยังพบปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ไม่อาจคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในเชิงบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้ผู้พ้นโทษยังคงถูกตีตราและไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถ จึงอาจเป็นสาเหตุให้ผู้พ้นโทษต้องหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ
เมื่อเดือน กรกฎาคม 2564 กสม.จึงได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเสนอให้มอบกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น สตช. สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น เพื่อแบ่งปันและส่งต่อข้อมูลผลคดีได้อย่างรวดเร็วและแก้ไขฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อมิให้เป็นภาระของประชาชนในการยื่นคำร้องขอปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรด้วยตนเอง
นอกจากนี้ กสม. ยังเสนอให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาให้การเยียวยาแก่ผู้ที่มิใช่อาชญากรซึ่งได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจากการจัดเก็บประวัติอาชญากรตามสมควรแก่กรณี พร้อมเร่งรัดการพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำหนดรูปแบบศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนให้นำประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทะเบียนประวัติอาชญากรตามที่ กสม. แจ้ง ประกอบการพิจารณาบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... รวมถึงพิจารณาเพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยประวัติ
ผู้ได้รับประโยชน์จากการล้างมลทินไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความรุนแรงประเภทของความผิด ทัศนคติมุมมองของสังคมประกอบกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างครบถ้วน และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
สำหรับข้อเสนอแนะต่อ สตช. นั้น กสม. ได้แจ้งให้เร่งปรับปรุงแก้ไขระเบียบ สตช. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยแยกประเภทบัญชีประวัติผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และประเภทบัญชีบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) อีกทั้ง สตช. ควรบันทึกข้อมูลการล้างมลทินไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นการเพิ่มเติมด้วย
ล่าสุด กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ดังกล่าว สรุปว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องข้อเสนอแนะของ กสม. ซึ่งปัจจุบันสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. เพื่อเป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการบริหารจัดการประวัติอาชญากรรม โดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม และมีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (Data Exchange Center : DXC) ให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแล้ว
ในส่วนของบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนปรับปรุงแก้ไขร่างตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) นั้น พบว่า ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเสนอแนะของ กสม. เช่น หลักการห้ามมิให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมในกรณีที่เจ้าของประวัติได้รับการล้างมลทินตามกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทิน รวมถึงกรณีที่พ้นจากระยะเวลา 5 ปี นับแต่มีคำพิพากษาแล้ว หลักเกณฑ์การเปิดเผยประวัติอาชญากรรมในกรณีฐานความผิดร้ายแรงเพื่อเป็นการคุ้มครองสังคมด้วย และการกำหนดให้มีนายทะเบียนและคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลประวัติอาชญากรรม ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องขอเปิดเผยหรือไม่ให้เปิดประวัติอาชญากรรมด้วย อย่างไรก็ดี กสม. พบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการบัญญัติเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลไว้
และที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้เสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเยียวยา จึงควรให้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้มีกฎหมายกลางในการเยียวยาความเสียหายที่ครอบคลุมการเยียวยาผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ด้วยสำหรับผลการดำเนินการของ สตช. ทราบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขปัญหาฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน ส่วนการคัดแยกประเภทบัญชีประวัติผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ออกจากบัญชีบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดซึ่งเดิมมีการรวมข้อมูลทุกประเภทไว้ในระบบฐานข้อมูลนั้น สตช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการและปัจจุบันอยู่ระหว่างการแยกข้อมูล เช่นเดียวกับการบันทึกข้อมูลการล้างมลทินที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
“ปัญหาการบริหารข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรมเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ผู้ที่พ้นโทษหรือเยาวชน ได้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคม และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่ง กสม. จะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สิทธิของประชาชนเจ้าของข้อมูลได้รับการคุ้มครอง” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว