"...สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “คุณภาพชีวิต: สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไทย ปี 2565” จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.74 ระบุว่า ได้รับความเคารพนับถือจากผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัว (ทั้งคนในครอบครัว/ในชุมชนที่อยู่อาศัย) รองลงมา ร้อยละ 91.47 ระบุว่า รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัยในบริเวณที่อาศัยอยู่ ร้อยละ 83.93 ระบุว่า สถานที่ราชการหรือเอกชนที่ต้องติดต่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ..."
เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “คุณภาพชีวิต: สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไทย ปี 2565” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2565 จากผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.74 ระบุว่า ได้รับความเคารพนับถือจากผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัว (ทั้งคนในครอบครัว/ในชุมชนที่อยู่อาศัย) รองลงมา ร้อยละ 91.47 ระบุว่า รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัยในบริเวณที่อาศัยอยู่ ร้อยละ 83.93 ระบุว่า สถานที่ราชการหรือเอกชนที่ต้องติดต่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ
สำหรับสูงอายุ ร้อยละ 72.66 ระบุว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจประเด็นสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในชุมชนที่อยู่อาศัย ร้อยละ 62.99 ระบุว่า สามารถเดินทางจากบ้านถึงป้ายรถเมล์/ที่จอด/สถานีรถโดยสารประเภทต่าง ๆ ได้ (เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน) โดยใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ร้อยละ 61.84 ระบุว่า ในรอบปีที่ผ่านมา รายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูตนเองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือกู้ยืมเงินจากผู้อื่น
ส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ 50.34 ระบุว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม (เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานทำบุญ) อย่างน้อย 1 ครั้ง ร้อยละ 54.23 ระบุว่า ในบริเวณที่อยู่อาศัย มีถนนหรือทางเดินสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ (นั่งรถเข็น) สามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวก และร้อยละ 54.15 ระบุว่า สามารถใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านในการติดต่อกับลูก หลาน ญาติ หรือเพื่อน
ในขณะที่ผู้สูงอายุ ร้อยละ 86.82 ระบุว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้ได้ลงทะเบียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษา ลงทะเบียนหรือเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือการฝึกอบรมความรู้จากหน่วยงานรัฐ/เอกชน ร้อยละ 73.95 ระบุว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครอย่างน้อย 1 ครั้ง และร้อยละ 59.71 ระบุว่า ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำงานตามที่ต้องการ หากต้องการทำงานเพื่อหารายได้
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.52 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.67 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 21.32 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.76 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 11.73 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 44.94 เป็นเพศชาย และร้อยละ 55.06 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 68.55 มีอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 27.11 มีอายุ 70 - 79 ปี และร้อยละ 4.34 มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 97.41 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 1.75 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.76 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 56.81 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 20.26 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.19 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 14.62 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุการศึกษา