แพทย์เชี่ยวชาญ เปิดแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด-19 “นอนรพ.-อยู่บ้าน” แนะวิธีสังเกตเชื้อลงปอด “ไอถี่-เหนื่อย” ย้ำ วัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็นมาก ขอสงกรานต์ปลอดภัยใส่แมสก์-ตรวจ ATK
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงประเด็น “ติดโควิดแล้ว รักษาอย่างไรให้ตรงอาการ?” ว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือกลุ่มสีเขียว ขณะนี้จะเน้นการรักษาที่บ้าน (HI) เพื่อปรับตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งจะต้องมาพัฒนาระบบการติดต่อผ่านโทรศัพท์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถติดต่อกับแพทย์ได้เป็นระยะ โดยเฉพาะกรณีที่อาการรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง เช่นต้องเครื่องช่วยหายใจอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) ขณะนี้อยู่ที่ 700-800 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ไม่ใช่การใช้แบบเต็มรูปแบบ เป็นการใช้ระยะสั้น 1-2 วันแรก โดยอาการจะดีขึ้นหลังได้รับยาต้านไวรัส
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านคือ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อให้ผู้ติดเชื้อดูความเสี่ยงต่อเชื้อโควิดที่อาจจะลงปอดได้ ระดับที่ต้องระวัง คือ 95-96% พร้อมดูอาการอื่นประกอบ เช่น ไข้สูง ไอถี่ๆ แล้วหลังไอรู้สึกเหนื่อยหอบ เป็นข้อสังเกตว่า พบปัญหาเรื่องปอด โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง สูบบุหรี่จัด อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเชื้อโควิดจะลงปอดคือ กลุ่ม 608 และผู้สูบบุหรี่ ทั้งนี้ การฟื้นฟูการทำงานของปอดหลังติดเชื้อ แนะนำให้ใช้การเดินช้าๆ อย่าหักโหม ออกไปโดนแสงแดดบ้างและนอนหลับให้เพียงพอ
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวว่า สำหรับช่วงสงกรานต์ปีนี้ ขอให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง เราคาดไว้ว่าหากฉีดเข็ม 3 ได้ถึง 80% สถานการณ์จะดีขึ้น ลดอัตราการป่วยหนัก บรรเทาการเข้ารพ.ได้ พร้อมทั้งการไปอยู่รวมกันก็ขอให้มีการตรวจ ATK ก่อนเดินทาง เปิดบ้านให้มีอาการถ่ายเทให้สะดวก สวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ การทำความสะอาดจุดสัมผัส เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก เพียงใช้น้ำสบู่เช็ดทำความสะอาด ปล่อยให้แห้ง เชื้อก็จะถูกทำลายไปหมด
ด้าน รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิดปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.ผู้ป่วยนอก จะมี 2 กรณี แบ่งเป็นโครงการ “เจอแจกจบ” ผู้กลุ่มสีเขียว อาการน้อย สามารถติดต่อ รพ. เพื่อรับยาตามอาการ เดินทางกลับบ้านสังเกตอาการ โดยจะมีแพทย์ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก จากนั้นสามารถดูแลตัวเองต่อเนื่องอีก 10 วัน ถ้าหากมีอาการมากขึ้น สามารถติดต่อกับ รพ.ได้ทันที
อีกกลุ่มจะเป็นรักษาที่บ้าน(HI) ซึ่งจะมีอาการมากกว่า แพทย์จะติดตามในระยะ 5 วัน ส่วนใหญ่ใช้ยารักษาตามอาการ ได้รับยาต้านไวรัสตามข้อบ่งชี้
2.ผู้ป่วยใน จะมี 2 กรณี แบ่งเป็นการรักษาใน รพ.สนาม/Hospitel ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่ต้องได้รับการดูแลมากขึ้น และ ผู้ป่วยใน รพ.หลัก จำเป็นต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ และมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การรับเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน จะอิงจากแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น เช่น ไอถี่ หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก การวัดระดับออกซิเจนในเลือด
“หลักสำคัญคือต้องลดอัตราติดเชื้อลง เพราะหากติดเชื้อหลักแสน การจะพบผู้ป่วยอาการรุนแรงก็มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ยาต้านไวรัส หากได้รับเร็วก็จะได้ลดโอกาสอาการรุนแรงได้มาก” รศ.นพ.ธนา กล่าว
รศ.นพ.ธนา กล่าวว่า สำหรับหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้การรักษาแบบ HI ได้ ซึ่งจะมีแพทย์คอยติดตามอาการ หากพบว่าอาการมากขึ้นก็จะมีการรับเข้า รพ.ได้ทันที หลักการทั่วไปจะเป็นแนวทางเดียวกับการรักษาผู้ป่วยกลุ่ม 608 แต่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ ยาต้านไวรัส ในผู้ที่อายุครรภ์ไตรมาส 1 จะห้ามใช้ยา แต่ไตรมาสที่ 3-4 เป็นต้นไป ก็จะชั่งความเสี่ยงกับประโยชน์ความจำเป็น ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยกลุ่มเด็ก ยาต้านไวรัสที่ให้จะต้องปรับขนาดตามน้ำหนักตัว พร้อมดูความปลอดภัยเพราะอาจจะไม่สามารถใช้ยาได้ทุกตัวเหมือนผู้ใหญ่
“สำหรับคำถามว่าอาการโควิดลงปอด คือ ไอเยอะ ไอต่อเนื่อง รู้สึกไม่สบายหน้าอก มีอาการหอบเหนื่อย ให้สงสัยว่ามีปอดอักเสบร่วมซึ่งต้องเข้ารับรักษาใน รพ. อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มเขียวอาการน้อยแต่ผลเอกซเรย์พบจุดขาวที่ปอด แต่เราต้องใช้การวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะบางครั้งจุดเล็กๆ อาจไม่มีผลกับผู้ป่วยที่ปอดแข็งแรง ทั้งนี้ ปริมาณเนื้อปอดที่ถูกทำลายหลังติดเชื้อก็ต่างกันไปควบคู่กับอาการลองโควิด ที่ทำให้เหนื่อยเพลียหลังหายติดเชื้อ กลุ่มนี้ต้องใช้เวลาหลักเดือนถึงปี เพื่อให้ปอดฟื้นฟู หรือปรึกษาแพทย์ในการใช้วิธีรักษาด้วยการฝึกการหายใจ” รศ.นพ.ธนากล่าว