"...สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “โอมิครอนน่ากลัวหรือไม่” จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.54 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน ต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด..."
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “โอมิครอนน่ากลัวหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.54 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน ต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รองลงมา ร้อยละ 22.20 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ดูแลป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ขณะที่บางส่วนระบุว่า ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 21.82 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเเพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ง่าย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 และร้อยละ 21.44 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนมีการดูแลและป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ด้านสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอย่างมากในเมืองไทยขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.95 ระบุว่า COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีความรุนแรงน้อย ทำให้คนประมาท/ไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกัน รองลงมา ร้อยละ 46.29 ระบุว่า เชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ติดง่ายมาก ร้อยละ 15.76 ระบุว่า มีการแพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศไทยหลบไม่ได้ ร้อยละ 13.41 ระบุว่า ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) บริหารงานผิดพลาด ร้อยละ 11.44 ระบุว่า มีการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 มากขึ้นกว่าเดิม ร้อยละ 9.70 ระบุว่า แรงงานต่างด้าวยังคงลักลอบเข้าเมือง ร้อยละ 9.62 ระบุว่า ประชาชน ส่วนหนึ่งไม่ยอมฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบตามจำนวนที่ภาครัฐรณรงค์ และร้อยละ 0.83 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาล ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 6 มีนาคม 2565 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.95 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 27.73 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 21.21 ระบุว่า ไม่พอใจเลย ร้อยละ 15.53 ระบุว่า พอใจมาก และร้อยละ 2.58 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ไม่ค่อยพอใจ และไม่พอใจเลย มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พอใจมาก และไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ท้ายที่สุดเมื่อถามประชาชนถึงความถี่ในการได้รับการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.14 ระบุว่า นาน ๆ ตรวจครั้ง รองลงมา ร้อยละ 26.82 ระบุว่า ตรวจอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 23.79 ระบุว่า ไม่เคยตรวจเลย ร้อยละ 5.83 ระบุว่า ตรวจทุก 3 วัน ร้อยละ 1.44 ระบุว่า ตรวจทุกวัน และร้อยละ 0.98 ระบุว่า ตรวจวันเว้นวัน
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.79 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.60 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.11 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.64 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.36 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 6.97 มีอายุ 15-25 ปี ร้อยละ 14.17 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 21.13 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 31.97 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 25.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.15 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.71 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 24.85 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.66 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.41 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 29.32 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.88 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.95 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.17 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.45 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.23 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 8.94 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.39 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.52ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.95 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.62 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 24.02 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.18 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.38 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 22.73 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.50 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.68 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.77 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.14 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.33 ไม่ระบุรายได้