"...สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกคนกันเอง ชลบุรี” จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อศึกวิวาทะระหว่างกลุ่มคุณสุชาติกับกลุ่มคุณสนธยาจะจบลงอย่างไร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.87 ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันเองเพื่อยุติความขัดแย้ง รองลงมา ร้อยละ 30.85 ระบุว่า จะมีคนกลางมาไกล่เกลี่ยให้ยุติความขัดแย้ง ร้อยละ 12.30 ระบุว่า จะแตกหักและแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการเลือกตั้งครั้งหน้า และร้อยละ 2.98 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ..."
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกคนกันเอง ชลบุรี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดชลบุรี กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,073 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับศึกวิวาทะคนชลบุรี ระหว่างกลุ่มของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คุณสุชาติ ชมกลิ่น กับ กลุ่มของนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา คุณสนธยา คุณปลื้ม การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อศึกวิวาทะคนชลบุรี ระหว่างกลุ่มของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คุณสุชาติ ชมกลิ่น กับ กลุ่มของนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา คุณสนธยา คุณปลื้ม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 26.56 ระบุว่า กลุ่มคุณสนธยาต้องการรักษาฐานการเมืองในจังหวัดชลบุรี รองลงมา ร้อยละ 24.98 ระบุว่า เป็นแค่ความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย ร้อยละ 22.46 ระบุว่า กลุ่มคุณสุชาติต้องการขยายฐานการเมืองในจังหวัดชลบุรี ร้อยละ 16.12 ระบุว่า กลุ่มคุณสนธยาไม่พอใจในความเคลื่อนไหวของกลุ่มคุณสุชาติ ร้อยละ 10.62 ระบุว่า กลุ่มคุณสุชาติไม่พอใจในความเคลื่อนไหวของกลุ่มคุณสนธยา ร้อยละ 8.39 ระบุว่า จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่ม/พรรคการเมืองอื่นแทรกเข้ามาได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ร้อยละ 6.99 ระบุว่า กลุ่มคุณสนธยากำลังสูญเสียฐานการเมืองในจังหวัดชลบุรี ร้อยละ 2.98 ระบุว่า กลุ่มคุณสุชาติไม่มีทางขยายฐานการเมืองในจังหวัดชลบุรีได้มากไปกว่านี้ และร้อยละ 13.61 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อศึกวิวาทะระหว่างกลุ่มคุณสุชาติกับกลุ่มคุณสนธยาจะจบลงอย่างไร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.87 ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันเองเพื่อยุติความขัดแย้ง รองลงมา ร้อยละ 30.85 ระบุว่า จะมีคนกลางมาไกล่เกลี่ยให้ยุติความขัดแย้ง ร้อยละ 12.30 ระบุว่า จะแตกหักและแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการเลือกตั้งครั้งหน้า และร้อยละ 2.98 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านฝ่ายที่จะสนับสนุนในศึกวิวาทะคนกันเองในจังหวัดชลบุรี พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า ไม่สนับสนุนทั้งสองกลุ่ม รองลงมา ร้อยละ 28.89 ระบุว่า สนับสนุนกลุ่มคุณสนธยา ร้อยละ 24.98 ระบุว่า สนับสนุนทั้งสองกลุ่ม ร้อยละ 5.87 ระบุว่า สนับสนุนกลุ่ม คุณสุชาติ และร้อยละ 3.54 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนหากกลุ่มคุณสนธยา จะกลับพรรคพลังชลในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.35 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 28.15 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.91 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 11.09 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 5.50 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนหากกลุ่มคุณสุชาติ จะยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 33.46 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 22.27 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 20.60 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 15.47 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 8.20 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดชลบุรี ตัวอย่าง ร้อยละ 51.91 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.09 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 7.74 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 15.38 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.94 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 31.31 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 25.63 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 97.11 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 1.40 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.49 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 27.49 สถานภาพโสด ร้อยละ 69.25 สมรส และร้อยละ 3.26 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 24.04 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.97 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.07 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.82 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.82 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.28 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 7.74 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 20.69 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.95ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.75 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 2.70 เกษตรกรรม/ประมง ร้อยละ 25.82 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.89 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.46 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่าง ร้อยละ 24.79 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 13.23 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.12 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.94 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.97 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.99 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 5.96 ไม่ระบุรายได้