อย.ชี้กรณีบริษัทญี่ปุ่นเรียกคืนมันมันฝรั่งทอดที่ส่งจากไทย หลังพบปนเปื้อนสารไกลโคแอลคาลอยด์สูงกว่าปกติ แจงผลิตเพื่อส่งออก ไม่มีวางจำหน่ายในไทย เตรียมส่งผลิตภัณฑ์ในไทยตรวจวิเคราะห์ และตรวจสอบสถานที่ผลิตต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อโซเชียล กรณีบริษัทญี่ปุ่นเรียกคืนมันฝรั่งทอดที่ส่งจากไทย หลังจากตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอยด์ สูงกว่าปกตินั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งให้ทราบว่า ไกลโคแอลคาลอยด์ (glycoalkaloids) เป็นกลุ่มของสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยในหัวมันฝรั่งจะพบสารกลุ่มไกลโคแอลคาลอยด์ ชนิดโซลานีนและชาโคนีนในบริเวณเปลือกผิว ตา บริเวณที่มีต้นอ่อนงอก บริเวณที่มีรอยช้ำหรือเป็นรอยแผล และส่วนที่มีสีเขียวมากกว่าส่วนเนื้อผลมันฝรั่ง โดยทั่วไปพบประมาณ 10 – 150 มก.ของน้ำหนักผลสด
การได้รับ สารไกลโคแอลคาลอยด์ในระดับสูง (มากกว่า 200 มก.ต่อ กก.น้ำหนักผลสด) ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง กรณีที่รุนแรงคือจะมีผลกระทบทางระบบประสาท การปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น การอบ ต้ม ทอด ไม่สามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ การที่จะลดได้คือการปอกเปลือกลึกเข้าไปในเนื้อผลให้มาก ควบคู่กับเก็บรักษา ผลมันฝรั่งสดที่ดี
จากการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ผู้ผลิตแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดดังกล่าว ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อย. ได้สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบที่จำหน่ายในประเทศส่งตรวจวิเคราะห์พร้อมทั้งประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบสถานที่ผลิตต่อไป
นพ.วิทิต กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อมันฝรั่งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยตัด ฟกช้ำ ตำหนิ เป็นแผล ไม่แตกหน่อ ไม่มีจุดเขียว ควรเก็บไว้ในที่มืดพ้นแสง แห้ง และเย็นประมาณ 5-8 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการแตกหน่อซึ่งช่วยลดการเกิดไกลโคแอลคาลอยด์ ปอกเปลือกให้ลึกเข้ามาในเนื้อให้มาก และ ตัดส่วนที่เสียหายออก ก่อนนำไปปรุงอาหาร กรณีผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง ไม่ควรบริโภคอาหารที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ผลิตภัณฑ์มีรสขม และฝาด กรณีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน ข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์บนฉลาก