'นพ.ธีระ วรธนารัตน์' เผยงานวิจัยล่าสุด อาการ Long Covid ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการบางอย่างรักษาหา แต่ใช้เวลายาวนานหลายเดือน ย้ำไม่ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 หลายรายที่สูญเสียการรับกลิ่นระยะยาว ซึ่งเป็นผลจากอาการ Long COVID มีเนื้อหาดังนี้
อัพเดตความรู้
1. US CDC เผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA เข็มสามที่ฉีดเป็นเข็มกระตุ้น พบว่าได้ผลดีมากในการป้องกันการป่วยจนต้องนอนรพ. และลดโอกาสป่วยจนต้องไปรับการดูแลฉุกเฉิน ทั้งต่อเดลต้าและ Omicron
ด้วยสถานการณ์การระบาดของ Omicron ทั่วโลกที่รุนแรง การฉีดเข็มกระตุ้นนั้นจำเป็น
2. "ความผิดปกติของการรับรู้กลิ่นหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 อาจคงอยู่ระยะยาว"
ข่าวไม่ดีนัก สำหรับคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วมีปัญหาเรื่องการรับรู้กลิ่นสูญเสียไป หรือรับรู้กลิ่นได้ผิดปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของ Long COVID เดิมเคยคาดกันว่าปัญหานี้น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาไม่นาน
แต่งานวิจัยล่าสุดโดย Tognetti A และคณะ จาก Karolinska Institutet ประเทศสวีเดน ได้ทำการศึกษาติดตามในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 100 คน และทำการประเมิน ณ 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง โดยตรวจสมรรถนะในการรับรู้กลิ่นเทียบกับคนปกติที่ไม่เคยติดเชื้อ
การศึกษานี้พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้น มีราว 2 ใน 3 (ประมาณ 65%) ที่ตรวจพบสมรรถนะการรับรู้กลิ่นที่ผิดปกติ ณ 18 เดือนหลังจากการติดเชื้อ คณะผู้วิจัยคาดว่า ด้วยเวลาที่ยาวนาน 18 เดือน แล้วยังพบว่ามีความผิดปกติของการรับรู้กลิ่นเช่นนี้ น่าจะมีความเป็นไปได้ที่ปัญหาด้านการรับรู้กลิ่นจะคงอยู่ไประยะยาว
รศ.นพ.ธีระ ระบุด้วยว่า ปัญหาอาการต่างๆ ที่คงค้างหลังจากติดเชื้อโควิด ที่เรียกว่า Long COVID นั้น จะเป็นปัญหาสำคัญมากทั้งต่อคนที่เคยติดเชื้อ และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมถึงมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำงาน เพราะเกิดอาการผิดปกติระยะยาวได้กับหลายระบบของร่างกาย
"การป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดเป็นกิจวัตรนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด" รศ.นพ.ธีระ ระบุ