'ตรีนุช' ลงพื้นที่ลำพูน ติดตามโครงการอารยเกษตรฯ โรงเรียนนำร่อง 'โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง' ลั่นสนับสนุนทุกมิติ พลิกโฉมการจัดการศึกษา มุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะเยาวชน ให้เป็น 'อารยเยาวชนไทย'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการพร้อมด้วย พล.ร.อ. ปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทานโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย 'โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง' (เครือข่ายอารยลุ่มน้ำลี้), รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา , นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. , ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ คณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ' โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง' (เครือข่ายอารยลุ่มน้ำลี้) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ลำพูน เขต 2
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า โครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย 'โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง' มีวัตถุประสงค์ในการประยุกต์ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ ทฤษฎีใหม่ ในแบบชาวบ้าน ผ่านการ 'ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา' ซึ่งเป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก และสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ โดยมุ่งเน้น การปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ รวมถึง การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ในสถานศึกษาให้เกิดผลในมิติต่างๆ ทั้ง การพึ่งพาตนเอง ความกตัญญู การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางปัญญา รวมทั้งสามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
"กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญ จึงน้อมนำโครงการฯมาปฏิบัติ โดยคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 จำนวน 102 โรงเรียน และประสานความร่วมมือกับ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน, ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง, โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย, และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่สถานศึกษาที่เป็นพี่เลี้ยง และจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ตลอดจนการตรวจเยี่ยม สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งส่งผลให้สถานศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และมีแนวทางที่ชัดเจน สำหรับนำมาพัฒนาจัดระบบการเรียนการสอน ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายการศึกษาทุกภาคส่วน เหมาะสมกับภูมิสังคมและบริบทของแต่ละท้องถิ่น ทำให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นที่พึ่งของชุมชนได้" น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้การสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้โครงการอารยเกษตรฯ สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ด้วยการพลิกโฉมการจัดการศึกษา ในมิติการบริหารโครงการและมิติวิชาการ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะเยาวชน ให้เป็น 'อารยเยาวชนไทย' ตามแนวทางพระราชทาน ให้เด็กและเยาวชน สร้างเสริมวิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต โดยมีความรู้และคุณธรรม เป็นคนดีมีระเบียบวินัย รับผิดชอบตัวเองได้ พึ่งพาตัวเองได้ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม มีความกตัญญูกตเวที มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี พร้อมเป็นฮีโร่ของชุมชน และประเทศชาติ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการทุกคน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และจะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการร่วมกันดำเนินงานโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย 'โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง' ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติสืบไป
ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุช ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เป็นโรงเรียนในโครงการอารยเกษตรฯ หากมีความสนใจที่จะเรียนต่อทางด้านสายวิชาชีพ สามารถเข้าร่วมโครงการเรียนฟรี อยู่ฟรี มีอาชีพของทาง สอศ.ได้ เฉพาะที่จ ลำพูน มี 3 วิทยาลัยอาชีวะที่น้องๆ สามารถติดต่อเข้าร่วมได้เลยเป็นการเชื่อมต่อ ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งใจแก้ปัญหาการตกหล่นทางการศึกษา และเป็นการทำงานแบบบูรณาการ เป็นการบริหารให้ครบวงจร เพราะเราไม่ต้องการทิ้งน้องๆ คนใดไว้ข้างหลัง