"...สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ดัชนีครูไทย ปี 2564 ครูไทยในยุคโควิด-19” พบว่า ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี 2564 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 7.75 คะแนน โดยดัชนีที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ 7.98 คะแนน ดัชนีที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านการประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน 6.75 คะแนน..."
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ดัชนีครูไทย ปี 2564 ครูไทยในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่าง 3,734 คน สำรวจวันที่ 10-13 มกราคม 2565 พบว่า ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี 2564 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 7.75 คะแนน โดยดัชนีที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ 7.98 คะแนน ดัชนีที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านการประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน 6.75 คะแนน โดยประชาชนมองว่าจุดเด่นของครูไทย คือ การใช้เทคโนโลยี มีทักษะใหม่ ๆ มีเทคนิคการสอนที่ดี ร้อยละ 82.29 จุดด้อยคือ มีภาระงานมาก ไม่มีเวลา ร้อยละ 74.99 โดยครูไทยในยุคโควิด-19 ต้องปรับตัวด้านการสอนออนไลน์ให้น่าสนใจ ปรับรูปแบบการสอน ร้อยละ 85.38 รองลงมาคือ ใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ พัฒนาด้านภาษาและเทคโนโลยี ร้อยละ 84.46
กลุ่มตัวอย่างที่เป็น “ครู” ให้คะแนนดัชนีครูไทย 8.40 คะแนน ส่วน “นักเรียน/นักศึกษา” ให้ 8.25 คะแนน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เมื่อครูมองครู นักเรียนมองครู จึงมีความเข้าอกเข้าใจ “หัวอกครู” เป็นอย่างดี เมื่อโควิด-19 พลิกวงการศึกษาไทยอย่างรวดเร็ว รัฐบาล จึงควรคว้าโอกาสนี้ในการพัฒนาการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นและไม่ทิ้งให้ใครต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนก็ตาม
“ดัชนีครูไทย” ปีนี้น่าสนใจมาก หากวิเคราะห์รายละเอียดจะพบว่าดัชนี 5 อันดับแรกเป็น Soft skills ทั้งสิ้น เช่น มนุษยสัมพันธ์ที่ดี ความเมตตา บุคลิกภาพที่ดี ความเป็นครูที่ดี หรือความเสียสละ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญและเห็นว่าครูไทยมีความโดดเด่นในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ดัชนีอันดับต้น ๆ เป็น Hard skills เช่น มีความรู้ หรือการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องจุดด้อยของครูไทยหากต้องการพัฒนาเรื่องภาระงานมากและไม่มีเวลา ควรนำจุดแข็งด้านเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้ทำงานง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงควรปรับจากการทำงานคนเดียวมาเป็นการทำงานเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง บริหารจัดการบทบาทของคนในทีมอย่างเหมาะสม เชื่อว่าครูจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายเรื่องนี้ได้
ในยุคโควิด-19 ครูต้องปรับตัวอย่างมาก การสอนในรูปแบบ Online หรือ Hybrid Learning ทำให้บทบาทของครูต้องปรับเปลี่ยนจาก “ผู้ให้ความรู้” เป็น “ผู้สร้างสภาพแวดล้อมและออกแบบกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้” โดยต้องเหมาะสมกับการเรียนแบบ Online และทำงานเป็น Partner กับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตอย่างสมวัยในยุคโควิด-19